ป.ป.ส. และ UNODC ร่วมประเมินสถานการณ์ยาเสพติด ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ป.ป.ส. และ UNODC ร่วมประเมินสถานการณ์ยาเสพติด ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบยาเสพติดประเภทสารสังเคราะห์ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทั่วภูมิภาค เล็งตั้งศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลสารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ UNODC พร้อมสนับสนุน

นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ร่วมกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) จัดประชุมเพื่อร่วมกันประเมินสถานการณ์ยาเสพติดในอนุภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้โดย Mr. Jeremy Douglas ผู้แทนสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปราม อาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิก นำคณะมาแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ยาเสพติดที่เป็นปัจจุบัน เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปปรับกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดต่อไป

Mr. Jeremy Douglas กล่าวว่ายาเสพติดจากแหล่งผลิตในสามเหลี่ยมทองคำยังคงเป็นภัยคุกคามไปหลายประเทศในภูมิภาค และเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งที่กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธบางกลุ่มในประเทศเมียนมามีความเชื่อมโยงกับองค์กรอาชญากรรมค้ายาเสพติดข้ามชาติ จากปัญหายาเสพติดในปัจจุบัน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ UNODC และ สำนักงาน ป.ป.ส. จะต้องประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความร่วมมือในการหาแนวทางการสกัดกั้นการลักลอบนำเข้าสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์เข้าไปในแหล่งผลิต รวมถึงการตรวจพิสูจน์สารตั้งต้น เคมีภัณฑ์ และยาเสพติด ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ส. มีขีดความสามารถที่จะปฏิบัติงานร่วมกับ UNODC หรือสนับสนุนให้กับประเทศเพื่อนบ้านได้ นอกจากนี้ยังมีความยินดีและขอรับข้อเสนอจากเลขาธิการ ป.ป.ส. เกี่ยวกับแนวคิดการจัดตั้งศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ (Chemical Data Center) ไปศึกษาความเป็นไปได้และแนวทางการสนับสนุนต่อไป

เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่าสาระสำคัญของการประชุมหารือในวันนี้ มีอยู่ 3 ประเด็นหลัก คือ 1. แนวโน้มการขยายตัวที่สูงขึ้นของยาเสพติดในกลุ่มสารสังเคราะห์ไม่ว่าจะเป็นยาบ้า ไอซ์ และคีตามีนในภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีปัจจัยมาจากการเข้าถึงสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ รวมถึงการปรับตัวของกลุ่มการผลิตยาเสพติด 2. การประเมินสถานการณ์ยาเสพติดร่วมกันในช่วงที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่ง UNODC วิเคราะห์ว่าไม่ส่งผลกระทบต่อปัญหายาเสพติดในภาพรวมของภูมิภาคเท่าใดนัก แต่ในภาพสถานการณ์ภายในประเทศไทยพบว่าจากมาตรการของรัฐบาลในการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลต่อสถานการณ์ยาเสพติดในประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะในการลักลอบนำเข้าตามแนวชายแดนและการลำเลียงในพื้นที่ตอนใน ซึ่งขณะนี้ สำนักงาน ป.ป.ส. อยู่ระหว่างการวิเคราะห์มาตรการที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาล และ 3. วิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้เกี่ยวกับการผลิตยาเสพติดในกลุ่มเฟนทานิล (Fentanyl) หลังจากทางการเมียนมายึดสารเมทิลเฟนทานิล (Methyl Fentanyl) เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องตรงกันว่าเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับการผลิตและขยายตลาดยาเสพติดสังเคราะห์ชนิดใหม่ในภูมิภาค

เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวเพิ่มเติมว่าสำนักงาน ป.ป.ส. เสนอแนวคิดในการจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงในการเฝ้าระวังสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตยาเสพติด ในรูป ศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ (Chemical Data Center) ซึ่งทาง UNODC เห็นด้วยและจะหาแนวทางสนับสนุนต่อไป สำหรับการประชุมลักษณะนี้กำหนดให้เกิดขึ้นในทุกเดือนเพื่อความเป็นปัจจุบันในการติดตามความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ และผู้แทน UNODC ที่ได้มอบรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ยาเสพติดสังเคราะห์ในภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( Synthetic drugs in East and Southeast Asia: latest developments and challenges) ให้แก่สำนักงาน ป.ป.ส. เพื่อนำเผยแพร่หน่วยงานภาคีได้ศึกษาและใช้ประโยชน์ต่อไป

เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวในตอนท้ายว่าสำนักงาน ป.ป.ส. นอกจากจะได้รับความร่วมมือจากภาคีภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในประเทศแล้ว ยังได้รับความร่วมมือจากนานาประเทศทั้งระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาค และสากลในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นอย่างดี ดังนั้นจึงขอให้พี่น้องประชาชนได้มีความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลได้ดำเนินทุกวิถีทางที่จะจัดการกับปัญหายาเสพติดเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับทั้งสังคมไทยและสังคมโลกตามแนวนโยบายของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และข้อเน้นย้ำของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ให้บูรณาการการทำงานกับทั้งหน่วยงานภายในและนอกประเทศในการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยพี่น้องประชาชนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหายาเสพติดได้ หากพบเห็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วน ป.ป.ส. โทร. 1386 ตลอด 24 ชั่วโมง

ร่วมแสดงความคิดเห็น