การประชุมวิชาการ ระดับชาติและระดับนานาชาติ เบญจมิตรวิชาการ ครั้งที่ 10 ภายใต้กรอบ “สถาบันอุดมศึกษาไทย : พลังขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน”

การประชุมวิชาการ ระดับชาติและระดับนานาชาติ เบญจมิตรวิชาการ ครั้งที่ 10 ภายใต้กรอบ “สถาบันอุดมศึกษาไทย : พลังขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน” รางวัลบทความดีเด่น กลุ่มศึกษาศาสตร์ เรื่อง “การบริหารสถานศึกษาตามหลักวงจรคุณภาพของสถานศึกษา ในศูนย์เครือข่ายพัฒนาคุณภาพการศึกษาห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 นายอภิศักดิ์ ทิพย์มัง มหาบัณฑิต สาขาวิชาบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่
Email: [email protected]
ดร.ธีระภัทร ประสมสุข อาจารย์คณะสังคมศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่
Email: [email protected] บทคัดย่องานวิจัย
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการบริหารสถานศึกษาตามหลักวงจรคุณภาพ ปัญหาและข้อเสนอแนะการบริหารสถานศึกษาตามหลักวงจรคุณภาพของสถานศึกษาในศูนย์เครือข่ายพัฒนาคุณภาพการศึกษาห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 ประชากรกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา 6 คน ครู 64 คน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 54 คน รวมทั้งสิ้น 124 คน ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการรวบรวมข้อมูล แล้ววิเคราะห์ด้วย ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัย พบว่า การบริหารสถานศึกษาตามหลักวงจรคุณภาพของสถานศึกษา โดยรวม อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านอยู่ในระดับมากทุกด้าน เรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย คือ ด้านการบริหารวิชาการ รองลงมาคือ ด้านการบริหารทั่วไป ด้านการบริหารงบประมาณ และด้านการบริหารงานบุคคล ตามลำดับ ปัญหาคือ ในแต่ละปีการศึกษามีครูจำนวนน้อยที่ต้นสังกัดส่งเข้ารับการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะและความรู้ ครูมีส่วนร่วมในการบริหารงบประมาณน้อย สถานศึกษาบางแห่งยังขาดบุคลากรในสาขาหลัก และอาคารสถานที่ตลอดจนครุภัณฑ์บางส่วนอยู่ในสภาพชำรุดเสียหาย ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ ข้อเสนอแนะ คือ ครูผู้สอนควรได้รับการพัฒนาหรือส่งเข้ารับการอบรมอย่างน้อยคนละครั้งต่อปี ควรเปิดโอกาสให้ครูได้มีส่วนร่วมในการบริหารงบประมาณมากขึ้น ควรสรรหาครูผู้สอนให้ตรงกับสาขาที่ยังขาดแคลน และควรซ่อมแซมอาคารสถานที่ตลอดจนครุภัณฑ์ที่อยู่ในสภาพชำรุดเสียหายให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหรือสามารถใช้งานได้ตามปกติ
คำหลัก : การบริหารสถานศึกษา, วงจรคุณภาพ, ศูนย์เครือข่ายพัฒนาคุณภาพการศึกษาห้วยห้อม

นายอภิศักดิ์ ทิพย์มัง หรือ อาจารย์เบน วัย 34 ปี เป็นชาวไทยภูเขา (ชนเผ่าละว้า) ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนแม่ลาน้อยดรุณสิกข์ จบการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต (คบ.) สาขาวิชาสังคมศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ (พ.ศ. 2554) และศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ (2563) ปัจจุบันเป็น ครู ค.ศ. 2 (พ.ศ.2561-ปัจจุบัน) โรงเรียนศิษย์เก่าพยาบาลศิริราชบ้านดง ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 ประวัติการทำงาน คือ ครูผู้ช่วย (พ.ศ.2554–2556) โรงเรียนรัฐราษฎร์วิทยา อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 / ครู ค.ศ. 1 (พ.ศ.2556–2561) โรงเรียนบ้านแม่สะปึ๋งใต้ อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

อาจารย์เบน มีความภาคภูมิใจมากที่ได้รับราชการครูในพื้นที่บ้านเกิดเมืองนอน ทั้งนี้เลือกทำงานวิจัย เรื่อง “การบริหารสถานศึกษาตามหลักวงจรคุณภาพของสถานศึกษาในศูนย์เครือข่ายพัฒนาคุณภาพการศึกษาห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2” เพื่อประกอบการค้นคว้าอิสระ (Independent Study) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ โดยมี อาจารย์ ดร.ธีรภัทร ประสมสุข เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้เลือกศึกษาการบริหารสถานศึกษาตามหลักวงจรคุณภาพในศูนย์เครือข่ายพัฒนาคุณภาพการศึกษาห้วยห้อม ซึ่งประกอบด้วยโรงเรียนทั้งหมดจำนวน 7 โรงเรียน ได้แก่ 1.โรงเรียนศิษย์เก่าพยาบาลศิริราชบ้านดง 2.โรงเรียนบ้านละอูบ 3.โรงเรียนบ้านห้วยห้า 4.โรงเรียนบ้านดูลาเปอร์ 5.โรงเรียนบ้านสาม 6.โรงเรียนบ้านดงใหม่ 7.โรงเรียนบ้านแม่และ ซึ่งเป็นโรงเรียนตั้งอยู่บนพื้นที่สูง มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขา ชาวบ้านเป็นชาวไทยภูเขา ประกอบด้วย ชนเผ่าละว้า และ ปกาเกอะญอ

อาจารย์เบน กล่าวทิ้งท้ายว่า “รางวัลบทความวิจัยดีเด่น ด้านศึกษาศาสตร์ ในการประชุมวิชาการ ระดับชาติและระดับนานาชาติ เบญจมิตรวิชาการ ครั้งที่ 10 สร้างความภาคภูมิใจต่อชีวิตครูบนดอยในชนบท ขอมอบรางวัลนี้ให้กับทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในงานวิจัยเรื่องนี้ เนื่องจากต้องเผชิญกับความยากลำบากตอนเก็บข้อมูลวิจัย เพราะการจะได้ข้อมูลเชิงลึกจากผู้บริหารสถานศึกษาไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องพบเจอปัญหาอุปสรรคของพื้นที่บนดอย การเดินทางยากลำบาก โชคดีที่ยุคปัจจุบัน การสื่อสาร ทางโทรศัพท์ อินเตอร์เนต อีเมล์ และเครือข่ายสังคมออนไลน์ ช่วยแก้ปัญหาเรื่องระยะทางในการเก็บรวบรวมข้อมูล บุคคลสำคัญที่อยากกราบขอบพระคุณมากคือ อาจารย์ ดร.ธีรภัทร ประสมสุข อาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งท่านมีประสบการณ์ด้านการศึกษาสูงมาก เกษียณจากการรับราชการครูที่จังหวัดลพบุรี ท่านก็มาเป็นอาจารย์ประจำของคณะสังคมศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ ที่กรุณาตรวจงานวิจัย และให้คำแนะนำ สั่งสอน ทั้งทางวาจา และการตรวจเอกสาร ช่วยด้านการเขียน ถ้อยคำ สำนวน มีการแก้ไขงานหลายครั้ง โดยวิธีออนไลน์และทางไปรษณีย์ ผมขอกราบขอบพระคุณคณะกรรมการ และองค์ความรู้อันเกิดจากประสบการณ์การเรียนรู้จากคณาจารย์ของหลักสูตร ศษ.ม. สาขาวิชาบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ ที่ทำให้ผมได้รับรางวัลครับ”

ขอบคุณข้อมูล : ผู้ช่วยศาสตราจารย์บงกช สุทัศน์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่
ที่ปรึกษาฝ่ายประชาสัมพันธ์ งานเบญจมิตรวิชาการครั้งที่ 10

ร่วมแสดงความคิดเห็น