เริ่มเปิดวัด ผู้คนแห่บวช เข้าวัดทำบุญมากขึ้น

เจ้าอาวาสวัดหนองเงือก ต.แม่แรง อ.ปาซาง จ.ลำพูน เจริญพรผ่านเสียงตามสายในชุมชนว่า ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2563 ซึ่งเป็นวันพระแรกของดือนจะเริ่มเปิดวัด ให้ญาติโยมเข้ามาทำบุญ ปฏิบัติธรรมร่วมกับทางวัดได้ตามปกติ หลังจากที่แต่ละวัดต้องดำเนินกิจทางสงฆ์ตามที่มหาเถรสมาคมและสำนักพระพุทธศสนาแห่งชาติ แจ้งให้งดกิจกรรมต่างๆในวัด เพราะอาจเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่มีนาคม ที่ผ่านมา

ทั้งนี้นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติกล่าวว่าที่ผ่านมา วัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ จะปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขงดหรือเลื่อนจัดกิจกรรมทางศาสนารวมถึง งดสรงน้ำพระ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีเพียงกิจกรรมสวดมนต์ผ่านเสียงตามสายให้กำลังศรัทธาแต่ละหัววัด ชุมชนต่าง ๆ และชาวบ้านสลับกันถวายภัตตาหารตามจิตศรัทธา ช่วงไม่มีการบิณฑบาต

 

ตลอดจนดำเนินตามพระดำริของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จัดทำตู้พระทำ นำสุขต่อยอด “โครงการ โรงทานปันน้ำใจ ช่วยผู้ประสบภัยโควิด-19” เพื่อให้ชาวบ้านมีแหล่งอาหารในสถานการณ์ ระบาดโรคนี้
“จริง ๆ แล้ว การงดจัดกิจกรรมทางศาสนา การสวดมนต์วันพระ การเปิดวัดต้อนรับนักท่องเที่ยว ไม่มีข้อห้าม เป็นเพียงขอความร่วมมือ ไม่ให้เกิดการรวมตัวกันของประชาชนเป็นกลุ่มก้อน ให้วัดปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข แต่ส่วนใหญ่เลือกที่จะปิดวัด และดำเนินตามแนวทางที่เหมาะสม “

ไวยาวัจกร วัดในเขตเมืองแม่โจ้ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า การเปิดวัด ให้ญาติโยม มาทำบุญ มาร่วมปฏิบัติธรรม ก็จะมีมาตรการทางสาธารณสุข ก่อนเข้าวัดต้องวัดอุณหภูมิ วัดไข้ โดยท้องถิ่น (อปท.) อสม.มาดำเนินการให้ และญาติโยม พระ เณร ต้องสวมหน้ากากอนามัย หากจะร่วมสวดมนต์ ทำวัตรเย็น ต้องมีสุขภาพแข็งแรง นั่งเว้นระยะห่างกัน โดยในวันพระแรก คงไม่ให้นอนวัด ร่วมปฏิบัติธรรม ตามรูปแบบที่เคยทำกันในกลุ่มผู้สูงอายุ ด้วยยังคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีระเบียบคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด วางกรอบไว้ให้ถือปฏิบัติระยะนี้ ที่ผ่าน ๆ มา แต่ละหัวบ้าน ชุมชน จะสลับสับเปลี่ยนจัดสำรับอาหารมาถวายพระ เพราะช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาดนั้น พระ เณร ไม่สามาออกไปบิณฑบาตได้ รวมถึงรับกิจนิมนต์ต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม พระเดชพระคุณหลายวัด ในนครเชียงใหม่ ระบุว่าประสงค์ให้สำนักงานพระพุทธฯ แจ้งบัญชีรายรับ-ราย “กองทุนวัดช่วยวัด” ด้วย เพราะถึงกำหนดต้องเก็บเงินจากพระสังฆาธิการทุกระดับชั้น แต่ช่วงโรคโควิด-19 ระบาด บรดาวัดในชนบทต่างเดือดร้อน ต้องดิ้นรนช่วยเหลือตนเองทั้งนั้น กิจนิมนต์ไม่มี เงินนิตยภัต 1-2 พันบาท ยังไม่พอจ่ายค่าไฟฟ้า ถ้าไม่ใช่วัดดัง โดดเด่น เป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็แทบจะต้องหุงข้าวฉันกันเอง มีญาติโยมมาค้ำชู อุปถัมภ์ ตามศรัทธา จะไปร้องขอชาวบ้านมาก ๆ ก็ไม่เหมาะไม่ควร ทุกคนก็ลำบากกัน

 

“ยิ่งช่วงโควิด-19 ระบาด โรงงานปิดตัว มีญาติโยม หันมาเข้าทางธรรม นุ่งขาว ห่มขาว บวชกันมาก เพราะมองว่า วัดน่าจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายของความสุขสงบ ในยามเหนื่อย ท้อแท้กับการเดินทางของชีวิตยุคโควิด-19 ทางวัดก็ต้องพยายามช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ ซึ่งยอมรับว่า คนหันมาบวชเพิ่มขึ้นช่วงนี้ สอบถามแต่ละวัดมี พระ เณร เข้ามาไม่ขาดสายเหมือน ๆ กัน คงเบื่อทางโลก เลยหันมาทางธรรม “

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น