มหาวิทยาลัยแข่งดุ จัดโปรโมชั่น ดึงเด็กเรียน ป.ตรี ทุกรูปแบบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ซึ่งมี ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เป็นนายกสมาคม ยืนยันว่าที่ประชุมอธิการบดี ได้ติดตามสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และผลกระทบจากหลาย ๆ ด้าน ที่อาจส่งผลต่อจำนวนผู้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา หรือปริญญาตรี ที่พบแนวโน้มบางคณะ บางสาขาวิชาลดลง
ทั้งนี้อธิการบดี สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาหลายแห่งในภาคเหนือ ระบุว่าที่ประชุม ทปอ. ติดตามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในแวดวงมหาวิทยาลัยในไทย อย่างใกล้ชิด มาหลายปี พร้อมหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การลดราคาค่าเทอม จัดโปรโมชั่น ดึงนักศึกษา ซึ่งมีการท้วงติงหลาย ๆ แห่งไปแล้วว่า หากนำเรื่องราคามาใช้เป็นกลยุทธ์ทางการตลาด อาจจะส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาในอนาคต
“การทำการตลาด หวังดึงเด็กที่กำลังจบมัธยมศึกษาที่ 6 มาเรียน บางแห่งให้ส่วนลดค่าบำรุงการศึกษา 25% รวมถึงยกเว้นค่าธรรมเนียม การผ่อนผันค่าเล่าเรียน โดยนักศึกษาไม่ต้องยื่นคำร้อง เป็นเรื่องน่ากังวล”
ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยดังแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ กล่าวว่า กลยุทธ์ “ไม่” ที่หลายแห่งทำ ซึ่งมักจะเป็น ม.เอกชน ตั้งแต่ กลุ่มนักเรียนที่กำลังจะเรียนจบ ม.6, ปวช., ปวส., กศน. รวมทั้งเทียบโอน ไม่ต้องสอบสัมภาษณ์ ไม่ต้องสอบข้อเขียน ไม่ต้องยื่นทีแคส ไม่ต้องยื่นแฟ้มสะสมผลงานคะแนน ไม่ต้องยื่นอะไรทั้งสิ้น นอกจากเอกสารตามระเบียบสมัครเรียน มหาวิทยาลัยนั้น ๆ พร้อมดำเนินการให้

“หากมองในแง่โอกาส ความเท่าเทียมที่เด็ก ๆ จะได้รับ ถือว่า มหาวิทยาลัยที่กำหนดรูปแบบดังกล่าวทำได้ดี แต่สาขาวิชา คุณภาพ และเงื่อนไขที่เด็ก ๆ ต้องเผชิญ หลังสำเร็จการศึกษา แน่นอนลำดับแรก คือ เงินกู้ กยศ. ที่ทุกกระบวนการ สถาบันดำเนินการให้ หากพาเพื่อนมาสมัครเกิน 5 คน จะได้ส่วนลดคนละ 3,000 บาท ผู้แนะนำจะได้รับทุน 1,500 บาท  กลายเป็นธุรกิจการศึกษาที่มากเกินไป”

ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่าปี 2562 จำนวนนักศึกษาใหม่ในระบบทีแคส ประเมินว่าจะมี 4-5 แสนคน แต่ลดลงมาอยู่ที่ 3-4 แสนคน จากในอดีตอยู่ที่เกือบ 1 ล้านคน ดังนั้นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด สาขาวิชาใดที่มีนักเรียนน้อยมากควรปิดตัว และไปพัฒนาหลักสูตรใหม่ ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการตลาด อัตราค่าเทอมควรอยู่ในระดับที่จะสร้างรายได้ให้กับมหาวิทยาลัยได้อย่างยั่งยืน ไม่ควรฝากความหวังกับตลาดนักศึกษาต่างประเทศที่จะเข้ามาเรียน เช่น นักศึกษาจากจีน เป็นต้น

“ควรหาจุดแข็งของสถานให้พบแล้วทุ่มเท สร้างบัณฑิตใหม่ ให้มีคุณภาพที่สร้างานได้ ทำงานในระบบจ้างงานก็ได้ ไม่เข้าใจว่ารายวิชาที่มีผู้เรียนน้อยจะเก็บไว้ทำไม บางแห่งจัดโปรฯ ไฟไหม้ ทั้งลด แจก แถม แทบจะอุ้มนักศึกษาเข้ามาเรียน หรือแม้แต่ให้เรียนฟรี นักศึกษายุคนี้ก็ยังไม่สนใจ คาดว่าช่วงสิ้นปี 2563 นี้ อาจจะมีหลายรายที่จะพากันเจ๊ง จุกหนักกับโปรโมชั่น การตลาดแบบนี้”

 

 

ด้านผู้บริหาร มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐฯ ในเชียงใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยทุกแห่ง รับผลกระทบเหมื่อน ๆ กัน แต่เอกชนอาจจะมากกว่า เพราะไม่มีงบประมาณประจำสนับสนุน เช่น มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ซึ่งได้บ้างบางส่วน แม้จะน้อยกว่าที่ตั้งเป้าไว้ ส่วนต่างที่ไม่เพียงพอก็ต้องหาวิธีบริหารจัดการให้ได้ เพื่อคุณภาพ ชื่อเสียงมหาวิทยาลัย อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยดัง ย่านสันทราย เชียงใหม่ กล่าวว่า แม้จะเกษียณไปก็ยังติดตามพัฒนาการมหาวิทยาลัยในบ้าน
เรา ซึ่งจากข้อมูลระบบการคัดเลือกกลาง เพื่อศึกษาต่อในปีการศึกษา 2563 ตั้งแต่ พ.ย. ปี 2562 รอบที่ 1 (เสนอแฟ้ม) มีผู้สมัคร 136,636 ที่นั่ง รอบ 2 (โควตา) ยอดรับ 97,262 ที่นั่ง รอบ 3 (รับตรงร่วมกัน) 74,435 ที่นั่ง รอบ 4 (แอดมิชชั่น) รวม 68,186 ที่นั่ง รวม 376,519 ที่นั่ง และรอบ 5 (รับตรง) อยู่ระหว่างสรุปยอด

“จะเห็นว่าจากจำนวนเด็กสนใจเรียนระดับปริญาตรีน้อยลงมาก จึงส่งผลให้แต่ละมหาวิทยาลัย
โดยเฉพาะ เอกชน จัดโปรฯ ไฟไหม้ดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย ทั้งจัดทุนการศึกษาให้ 40,000 บาท  ฟรีค่าหอพัก จ่ายเพียงค่าน้ำค่าไฟเดือนละ 300 บาท ฟรีชุดนักศึกษา 2 ชุด มีงานพาร์ทไทม์ให้ทำระหว่างเรียน รับค่าครองชีพ 3,000 บาทต่อเดือน  บางแห่งชูจุดขายบางสาขาวิชาเรียนเพียง 3 ปี ผ่อนชำระค่าเทอมได้ ในต่างจังหวัดพบว่า ม.เอกชน บางแห่ง ให้เรียนผ่านระบบออนไลน์ เรียนเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ มีเงิน กยศ.ให้นักศึกษากู้ยืม ถ้าเรียนดี เก่ง เป็นนักกีฬา รับทุนเรียนฟรีตลอดหลักสูตร โดยไม่ต้องใช้ทุนคืนเมื่อเรียนจบก็มี”
ด้านนายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ม.รังสิต กล่าวว่า ช่วงเดือน มิ.ย. นี้ จะมีนักศึกษาจบระดับปริญญาตรี และระดับวิชาชีพ ประมาณ 280,000-300,000 คน ในจำนวนนี้กว่า 60% ของแรงงานบัณฑิตใหม่เหล่านี้จะไม่สามารถหางานทำได้ในระยะ 6-18 เดือนข้างหน้า ส่วนนักเรียนในระดับมัธยมปลายและมัธยมต้น จะมีโอกาสหางานทำได้มากกว่าหากไม่เลือกงาน

ร่วมแสดงความคิดเห็น