รับมือไข้เลือดออก ช่วงฤดูฝน เปิดเทอมกลุ่มศูนย์เด็กเล็กน่าห่วง

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่าสถาน
การณ์โรคไข้เลือดออกค่อนข้างน่าเป็นห่วง ในปี 2563 ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึงปัจจุบัน มีรายงานผู้ป่วยทั่วประเทศมากกว่า14,000 ราย เสียชีวิต 10 ราย กระจายทุกภูมิภาค กลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยมากสุดคือ 10-14 ปี (อัตราป่วย 69.81 ต่อประชากรแสนคน) รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5-9 ปี (ร้อยละ 54.20) และ 15-19 ปี (ร้อยละ 50.84)

ปกติในช่วงฤดูฝน จะมีปัญหาเกิดน้ำขังตามภาชนะและวัสดุต่าง ๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายได้ ขอแนะนำให้มีการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณบ้านและในชุมชน ตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ดังนี้ 1.เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และ 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลาย

ด้าน ผศ. ดร. นพ.นพพร อภิวัฒนากุล สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โรคไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ คือสายพันธุ์ 1, 2, 3 และ 4 การระบาดมักเกิดในช่วงฤดูฝน โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค  “ในอดีตจะพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมากในวัยเด็ก แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาพบว่า กลุ่มอายุผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้เลือดออกได้ขยายไปยังกลุ่มวัยรุ่น และผู้ใหญ่วัยทำงานมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันตัวเลขของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก มีแนวโน้มสูงขึ้น ๆ”

สำหรับอาการของโรคไข้เลือดออกที่เกิดขึ้นในวัยเด็กและผู้ใหญ่นั้นไม่ต่างกันมาก เนื่องจากอายุไม่ได้เป็นตัวชี้ชัดแน่นอน แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความรุนแรงที่ต่างกันของแต่ละสายพันธุ์ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกจะ มีไข้สูงเฉียบพลันเกิน 38 องศาเซลเซียส ปวดเมื่อยตามตัว บางรายปวดไปถึงกระดูก คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร มีเลือดออกที่ผิวหนัง เป็นจุดเลือดเล็ก ๆ กระจายอยู่ตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ มีเลือดกำเดา หรือเลือดออกตามไรฟัน เป็นต้น

โดยไข้เลือดออกแบ่งได้ 3 ระยะด้วยกันคือ ระยะไข้สูง เป็นช่วงที่ไม่อันตราย แต่ผู้ป่วยอาจอ่อนเพลีย หมดแรง อาเจียน รับประทานอาหารได้น้อย ระยะฟื้นตัว ที่ร่างกายจะค่อย ๆ แข็งแรงขึ้น จนกลับมาสู่ภาวะปกติ แต่จะมีผู้ป่วยส่วนน้อยที่เข้าสู่ ระยะวิกฤต ซึ่งเป็นช่วงที่เป็นอันตรายที่สุดโดยเป็นช่วงที่ผู้ป่วยมีไข้สูงและไข้ลดลง แล้วมีอาการช็อกตามมา

” เนื่องจากไข้เลือดออกมีสาเหตุมาจากยุงลายเป็นพาหะนำโรค ดังนั้นควรกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้านและชุมชน ด้วยการปิดฝาภาชนะที่มีน้ำขังให้มิดชิด ไม่ให้ยุงเข้าไปวางไข่ได้ เปลี่ยนน้ำในภาชนะทุกสัปดาห์ ดูแลความสะอาดปรับสภาพแวดล้อมบริเวณบ้านให้ปราศจากภาชนะที่มีน้ำขังได้ ”

ทั้งนี้ จ.เชียงใหม่ ระบุว่า ได้ขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท. )ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคไข้เลือดออก ในช่วงฤดูฝน ตามแนวทางที่กำหนด ยิ่งช่วงเปิดเทอม ตามศูนย์เด็กเล็ก ต้องเข้มงวดกวดขัน จัดการแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

ด้านเทศบาลเมืองแม่โจ้ ได้จัดชุดเคลื่อนที่ ในการพ่นฉีดสารกำจัดลูกน้ำยุงลาย พร้อมประสานความร่วมมือกับ อสม. ตระเวณพบปะชาวบ้าน แนะนำวิธีการกำจัดแหล่งเพาะลูกน้ำยุงลาย แจกทรายอะเบททำลายลูกน้ำยุงลาย แนะนำวิธีป้องกันเด็ก ๆ ผู้สูงวัยให้ห่างไกลจากโรคไข้เลือดออกด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น