สธ. ดีเดย์ 1 ก.ค. ‘ก้าวท้าใจ ซีซั่น 2’ กระตุ้นออกกำลังกาย 6 กีฬา พิชิต 60 วัน 6,000 กิโลแคลอรี

​กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้ากระตุ้นประชาชนออกกำลังกาย ดีเดย์ 1 กรกฎาคม เริ่มสะสมระยะทาง ระยะเวลา ในโครงการ “ก้าวท้าใจ season 2 ต้านภัยโควิด 19” พิชิต 60 วัน 6,000 กิโลแคลอรี พร้อมเผย วัยทำงานเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักสำคัญ และจำเป็นต้องมีการออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค

​ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า โครงการก้าวท้าใจ season 2 ต้านภัยโควิด 19 จะเริ่มทำการสะสมระยะทางและระยะเวลาทั้ง 6 ประเภทกีฬา ได้แก่ วิ่ง ปั่นจักรยาน เวทเทรนนิ่ง แอโรบิคแดนซ์ โยคะ และคีตะมวยไทย ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม ถึง 29 สิงหาคม 2563 รวม 60 วัน 6,000 กิโลแคลอรี พร้อมสะสมแต้มสุขภาพ (Health point) ด้วยการบันทึกสะสมการออกกำลังกาย และส่งข้อมูลสะสมระยะทาง ระยะเวลาในแอปพลิเคชัน Line ซึ่งระบบจะทำการบันทึกสะสมแต้มสุขภาพ (Health point) และประมวลผล พร้อมประเมินดัชนีมวลกาย (BMI) รวมทั้งให้คำแนะนำการดูแลร่างกายแต่ละบุคคล ซึ่งจากการเปิดตัวโครงการ เมื่อ 15 มิถุนายน ที่ผ่านมา ขณะนี้มีจำนวนกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ประชาชนทั่วไป อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ชมรมออกกำลังกายและหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศ สมัครเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 84,832 คน

ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ยังคงสมัครได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีขั้นตอนสมัครดังนี้
1. Add Line “@THNVR”
2. ผู้ที่เคยสมัครในโครงการ 10 ล้านครอบครัว ให้ล็อกอินด้วยเบอร์โทรศัพท์และรหัสที่เคยลงทะเบียนไว้ หรือกดที่ปุ่ม Login with Line

และ 3. สำหรับผู้ที่ไม่เคยสมัคร ให้กดปุ่มสมัครสมาชิกได้ทันที หรือดูรายละเอียดที่ https://activefam.anamai.moph.go.th/ โทรศัพท์ 0 2590 4413

​ทางด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวเสริมว่า กลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ต้องการให้มีส่วนร่วมในโครงการนี้คือ กลุ่มวัยทำงาน เนื่องจากเป็นวัยที่มักมีข้ออ้างว่าไม่มีเวลาว่าง ทั้งที่ความจริงการออกกำลังกายในวัยนี้นับว่ามีความจำเป็นมาก เพราะร่างกายต้องได้รับการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิตสูง และอ้วน พร้อมทั้งเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค นอกจากนี้ การออกกำลังกาย ยังทำให้ร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟิน (Endorphin) ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียดได้ ซึ่งแต่ละคนสามารถเลือกและปรับรูปแบบของการออกกำลังกาย ให้เหมาะสมตามเวลาและสถานที่ได้ ช่วยให้การทำงานของปอด หัวใจ กล้ามเนื้อแข็งแรง ทั้งยังช่วยให้ระบบการไหลเวียนของเลือดมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกลุ่มวัยทำงาน ควรเคลื่อนไหวออกกำลังระดับปานกลางอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน ๆ ละ 30 นาที ควรมีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อก่อนการออกกำลังกาย และไม่ควรหักโหมมากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดโทษต่อสุขภาพได้เช่นกัน สำหรับผู้ที่มี โรคประจำตัวควรออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์

ร่วมแสดงความคิดเห็น