ศบค. ยก 3 เหตุผล ต่อ ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ’ ถือเป็นอำนาจตามกฎหมายเชิงป้องกัน ในการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19

เมื่อวานนี้ 22 ก.ค. 63 เวลา 12.00 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เผยถึงมาตรการในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ภายในประเทศว่า

ที่ประชุม ศบค. ได้พิจารณาความเหมาะสม ในการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ต่ออีก 1 เดือน (ถึง 31 สิงหาคม 63) เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ในภาพรวมทั่วโลกยังคงมีการระบาดที่รุนแรง อีกทั้งมีคนไทยจากต่างประเทศและชาวต่างชาติ ที่ได้รับการผ่อนผันเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับจะมีการอนุญาตชาวต่างชาติ เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพิ่มเติม

นอกจากนี้ มาตรการผ่อนคลายภายในประเทศที่ดำเนินการอยู่ เป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรค จึงจำเป็นต้องมีการกำกับดูแล โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคภายในประเทศ

โดย 1. จำเป็นต้องมีอำนาจตามกฎหมายเชิงป้องกัน ในการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ อาทิ
1) การควบคุมการเดินทางเข้า-ออกราชอาณาจักรในทุกช่องทาง
2) การจัดทำระบบติดตามตัว การกักตัว และการเฝ้าระวังบุคคลต้องสงสัย
3) มาตรการการควบคุมโรคที่สามารถบังคับใช้ได้อย่างครอบคลุมในทุกกิจกรรม/กิจการที่เกี่ยวข้อง

2. จำเป็นต้องมีระบบการบริหารจัดการวิกฤตการณ์ ในลักษณะการรวมศูนย์ที่ปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว เป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการบูรณาการกำลังพลเรือน ตำรวจ และทหารเข้าร่วมปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการเตรียมความพร้อมให้กับประเทศ ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ฐานชีวิตใหม่ (New Normal) จนกว่าจะมีกฎหมายฉบับอื่นมารองรับในอนาคต

ส่วนการเดินทางภายใต้ข้อตกลงพิเศษ (Special Arrestment) และมาตรการสำหรับบุคคลในคณะทูต คณะกงสุล องค์การระหว่างประเทศ ผู้แทนรัฐบาล หรือหน่วยงานของรัฐ ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญ และนักการทูต ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย จะต้องกักตัว 14 วัน

ส่วนการพิจารณาแนวทางมาตรการหลักเกณฑ์ และวิธีการปฏิบัติ สำหรับการนำแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้แก่ เมียนมา ลาว และกัมพูชา เข้ามาในประเทศ โดยกระทรวงแรงงานได้เสนอให้มี Organizational Quarantine ที่หน่วยงานจัดพื้นที่เพื่อให้แรงงานได้ทำการกักตัว 14 วัน และเพื่อเป็นการลดต้นทุนต่าง ๆ อาจจะให้ทำการกักตัวอย่างน้อยห้องละสองคน เพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้อยู่ในพื้นที่ ที่ได้รับการตรวจตามมาตรฐาน ทั้งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขและฝ่ายมั่นคง

ร่วมแสดงความคิดเห็น