ของบฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท แม่ฮ่องสอนผ่าน 12 แผน งบกว่า 45 ล้านบาท ฝีมือทีม อบจ.

สำนักงานท้องถิ่น จ.แม่ฮ่องสอน แจ้งว่าบัญชีผลการประเมินเบื้องต้นโครงการจังหวัด (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) พบว่าทั่วประเทศ 573 โครงการนั้น ภาคเหนือมี 121 โครงการ วงเงินกว่า 301 ล้านบาท จากงบประมาณ 1,288 ล้านบาท โดยเชียงใหม่ มี 3 โครงการ ขอรับงบ 2.1 ล้านบาท ลำพูน 28 โครงการ วงเงินรวมกว่า 29.2 ล้านบาท และแม่ฮ่องสอน 12 โครงการ งบกว่า 45 ล้านบาท

ในเอกสาร ข้อมูลแจ้งผลประเมินนั้น ทีมข่าวได้ตรวจสอบพบว่า จ.แม่ฮ่องสอน นั้น องค์การบริหารส่วนจังหวัด นำเสนอโครงการศูนย์พัฒนาและแสดงสินค้าชุมชน จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อกระตุ้นการบริโภคและสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ (ยัง สตาร์ท อัพ) รูปแบบกิจกรรมตอบโจทย์ตามเป้าหมายแผนฟื้นฟูของรัฐบาลที่จะเตรียมกระจายงบ 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม โดยโครงการนี้จะมีกิจกรรมสร้างผู้ประกอบการชุมชน เกิดการจ้างงาน จัดฝึกอบรม จับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการชุมชนกับผู้ผลิตสินค้าชุมชน เชื่อมโยงตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นต้น โดยขอรับงบ 17,750,000 บาท และ อบจ.แม่ฮ่องสอน ยังนำเสนอโครงการแปรรูปและเพิ่มมูลค่ากระเทียมแม่ฮ่องสอน ด้วยกิจกรรมสนับสนุน อาทิ นำกระเทียมแม่ฮ่องสอนมาเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น แปรรูป จัดหาเทคโนโลยี่ทันสมัยเพื่อการผลิต สู่ตลาดค้าส่ง ค้าปลีก และคู่ค้าออนไลน์ ด้วยเสนอขอรับงบดำเนินการกว่า 10.5 ล้านบาท

และอบจ.แม่ฮ่องสอนยังเสนอขอรับงบ เพื่อโครงการศูนย์ทักษะด้านการเกษตรก้าวหน้า สำหรับเกษตรกรบนพื้นที่สูง วงเงินที่ขอไป 7 ล้านบาท ในส่วนของ อปท.อื่น ๆ ในพื้นที่ มีการเสนอโครงการ ชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิต วัฒนธรรมและปรวัติศาสตร์เมืองเก่า เวียงเหนือซึ่ง อบต.เวียงเหนือ เสนอของบราว ๆ 435,600 บาท ส่วน อปท.อื่น ๆ ที่แผนงานผ่านการประเมินเบื้องต้นจะมี อบต.ผาบ่อง, ทต.เมืองยวมใต้, อบต.หัวง้ม ทั้งนี้ อบต.เวียงเหนือ มี 2 แผนงาน ทต.เมืองยวมใต้ 5 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการด้านการเกษตรหลายแผน เช่น ส่งเสริมกลุ่มปลูกบุก, แปรรูปหัวบุก และลานพักสินค้าเกษตร

กิจกรรม โครงการที่ จ.แม่ฮ่องสอน นำเสนอและผ่านการพิจารณาเบื้องต้นนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า กระเทียมแม่ฮ่องสอน, บุก และภาคการผลิตการเกษตร ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงประชากรในพื้นที่ โดยแม่ฮ่องสอนได้รับการยอมรับว่าเป็นแหล่งผลิตกระเทียมคุณภาพ พันธุ์ดีอีกแหล่งของภาคเหนือ เป็นที่ต้องการของตลาด ดังนั้นทีมงาน อบจ.แม่ฮ่องสอน จึงพุ่งเป้า ให้ตรงกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ซึ่งต้องเร่งพัฒนาศักยภาพต่อไป

“เพราะกระเทียมแม่ฮ่องสอน คุณภาพเยี่ยม มีปัญหาด้านราคา เพราะขาดการส่งเสริม ไม่มีแผนการต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มในตลาด ต้องส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในแต่ละหมู่บ้าน แหล่งผลิต พืชผลการเกษตร ไม่จำเพาะกระเทียมให้มีความเข้มแข็ง มีนวัตกรรมทันสมัยเข้ามาช่วยแปรรูป และสร้างองค์ความรู้สู่ชุมชน ด้วยการจัดฝึกอบรม ให้เยาวชน คนรุ่นใหม่ ๆ ในรูปแบบ ยังสตร์ท อัพ ผ่านหน่วยงานที่มีความรู้เฉพาะด้านมาร่วมกิจกรรม”

หากกระบวนการพัฒนา ตามรูปแบบศูนย์ ที่ อบจ.แม่ฮ่องสอน นำเสนอด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ได้รับงบขับเคลื่อน จะเกิดประสิทธิผลต่อชุมชน ในการสร้างงาน สร้างอาชีพ เกษตรกร จากรุ่นสู่รุ่นอย่างยั่งยืน ที่สำคัญ ความร่วมมือของหน่วยงานราชการในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นพาณิชย์และเกษตร ต้องร่วมบูรณาการแผน ให้เศรษฐกิจชุมชน มีความเข้มแข็ง จากต้นทุนที่มี เพื่อความอยู่ดี มีสุข อย่างยั่งยืน สอดรับกับวิถีชีวิต ภูมิสังคม แต่ละหมู่บ้าน ตำบลใน จ.แม่ฮ่องสอน ด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น