คนจนเชียงใหม่พุ่ง อมก๋อยจนสุด แม่ฮ่องสอนแชมป์ประเทศ

คณะทำงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับครัวเรือนแบบบูรณาการเชิงพื้นที่ (กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ลำ
พูน-เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอนและลำปาง) เปิดเผยว่า การดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับครัวเรือนแบบบูรณาการเชิงพื้นที่ ในระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า หรือ ทีพีเอ็มเอพี. “เป็นอีกรูปแบบการปฏิบัติของหน่วยงานด้านพัฒนาชุมชน ,พัฒนาความั่นคงของมนุษย์ รวมถึงปกครองท้องถิ่น ,ท้องที่ในการระบุปัญหาความยากจนระดับบุคคล ครัวเรือนทุกๆพื้นที่ได้อย่างตรงเป้าหมาย ทำให้การแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำทำได้ง่ายขึ้น หลักการคืออาศัยข้อมูลจากหลายแหล่งมายืนยันซึ่งกันและกัน ปัจจุบันใช้สมมุติฐานว่าคนที่ได้รับการสำรวจว่าจนและยังมาลงทะเบียนขอความช่วยเหลือที่รัฐฯจัดทำ น่าจะเป็นคนจนเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน”

ทั้งนี้โครงการเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) ในส่วนความช่วยเหลือเร่งด่วนนั้น หน่วยงานราชการแต่ละพื้นที่จะช่วยไปดูแล ช่วยเหลือตามภารกิจ หน้าที่เบื้องต้น “อาจจะเป็นการช่วยนำข้าวสาร อาหารแห้ง ยารักษาโรค,เงินไปมอบให้ และถ้าครัวเรือนมีบุคคลอยู่ในวัยเรียนก็อาจหาช่องทางเข้าสู่กองทุน เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2560 เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยให้รัฐเป็นผู้จัดสรรงบประมาณให้” ที่ผ่านมาดำเนิน 9 โครงการเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ทั้งในทางตรงและทางอ้อม เช่น โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข ,โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ให้ทุนเรียนต่อ ปวช. ปวส. สำหรับนักเรียนยากจนที่เรียนดี ,โครงการสร้างโอกาสทางการศึกษา สําหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลเป็นครูรุ่นใหม่ เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน (ครูรัก(ษ์)ถิ่น) เป็นต้น”

 

นักวิชาการพัฒนาสังคม สถาบันวิจัยสังคมดัง ในเชียงใหม่ กล่าวว่า จากฐานข้อมูลโครงการนี้ คนจนเป้าหมาย ยึดโยงฐานข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย 36,893,084 คน พบครัวเรือนยากจน 12,975,931 ครัวเรือน ในเชียงใหม่ครัวเรือนที่ได้รับการสำรวจ (จปฐ) มีราวๆ 379,466 ครัวเรือน เป็นกลุ่มยากจน 37,911 ครัวเรือน คนยากจน (จปฐ) ราวๆ 126,758 คน แต่คนจนเป้าหมายมี 50,243 คน เป็นคนจน (จปฐ) ที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ ในข้อเท็จจริงแล้ว สถานะบุคคล ครัวเรือนที่ยากจน มีมากกว่านั้นโดยเฉพาะประชากรแฝงที่มีทั้งคนจากต่างจังหวัด คนต่างด้าว มาทำงานในภาคการก่อสร้าง ภาคการเกษตรจะเห็นได้จากสลัม ชุมชนแออัดที่ขยายพื้นที่ต่อเนื่องในเขตเมือง และอำเภอรอบนอก

นอกจากนั้น รูปแบบครัวเรือนแต่ละจังหวัด หากอ้างอิงรายงานจากแบงค์ชาติและ เวิลด์แบงค์ จะพบโครงสร้างปัญหาที่มีการศึกษา รวบรวมข้อมูลคือความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ ภูมิศาสตร์ ส่งผลต่อเศรษฐกิจ สังคม และกลุ่มหลักๆจะอยู่ชายขอบ ชายแดน “ความเหลื่อมล้ำ ก็อาจหมายถึงความยากลำบาก ความยากจน การเข้าถึงโอกาส การดำรงอยู่ที่ขาดปัจจัยพื้นฐานหลัก ทั้งอาหาร,ที่อยู่, การมีรายได้, โครงสร้างบริการพื้นฐานที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเป็นเกษตรกรมากกว่า 28 ล้านคน” เป็นที่ทราบกันดีว่า ดัชนีชี้วัดความยากจน ถ้าอิงข้อมูลซึ่งรวบรวมจากโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับครัวเรือนแบบบูรณาการเชิงพื้นที่ ในเชียงใหม่นั้นอมก๋อย ติดอันดับ 1 ตามด้วยแม่แจ่มและกัลยาณิวัฒนา ฐานข้อมูลรายงานสภาพัฒน์ ที่เก็บข้อมูลรายจังหวัด รายภาค เล่มล่าสุด ชี้ชัดว่า ภาคเหนือ มี 3 จังหวัด คือที่ แม่ฮ่องสอน น่านและตาก ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายแดน “ข้อมูล 10 จังหวัด ที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด หรือความยากจนหนาแน่น ระหว่าง ปี 2550-59 พบว่า แม่ฮ่องสอน อยู่ลำดับ 1 มาตลอด มีเพียงปี 58 ที่ไปอยู่ที่ 2 เพราะปัตตานีแทรกเข้ามา แต่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสื่อถึงสภาวะครัวเรือนที่มีการเก็บสถิติ และนำมาสังเคราะห์ แปรข้อมูล มีอัตราลดลงจาก 74.40 % มาอยู่ที่ 46.08 % หมายถึงคนจนลดลงไป แต่จำนวนคนจนก็ยังมากกว่าจังหวัดอื่นๆ”

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้ส่งผลกระทบในหลายมิติกับหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย
ซึ่งผลกระทบในด้านสาธารณสุข ด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนด้านสังคมธนาคารโลกระบุว่า วิกฤตการณ์นี้ อาจส่งผลกระทบทำให้ประชากรทั่วโลกถึง 60 ล้านคน เผชิญกับความยากจนอย่างแสนสาหัส ทั้งนี้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ว่าจะปรับตัวลดลง และหลายๆหน่วยงานด้านวิจัยข้อมูลเศรษฐศาสตร์ ยืนยันตรงกันว่า โควิด 19 ทำให้คนจนเพิ่มขึ้น ที่น่าสนใจคือคนจนในไทยจากเดิมที่มีคนจนและอยากจนไปลงทะเบียนใช้สิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ 11.4 ล้านคน หลังโควิด 19 จะมีคนจนจริงๆเพิ่มอีก 3-4 ล้านคน เป็นกลุ่มเปราะบางในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เคยมีงานทำ แต่ว่างงาน ตกงานจากกิจการปิดตัว เพราะโรคโควิด 19 “เมืองใหญ่ๆ เช่นเชียงใหม่ จะเริ่มกลายเป็นเป้าหมายในการเดินทางมาแสวงหาโอกาสในชีวิต ทั้งทำงาน, เรียน, สร้างครอบครัว เพราะเป็นพื้นที่เชิงภูมิศาสตร์ที่มีแผนพัฒนาเร่งยกระดับการเป็นฐานเศรษฐกิจ ลงทุน การค้าระดับภูมิภาคกับเพื่อนบ้าน ซึ่งจะเห็นโครงข่ายคมนาคม ขนส่ง ที่สนับสนุนเส้นทางการค้า อินโดไชน่า สายทางอาร์ 3 เอ เป็นต้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น