องคมนตรีประชุมคณะกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ครั้งที่ 1/2563

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 เวลา 13.30 น. พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง พร้อมด้วย นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง คณะกรรมการมูลนิธิฯ อีก 3 ท่าน ประกอบด้วย พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี พลเรือเอก ปวิตร รุจิเทศ และ พลอากาศโท ภักดี แสงชูโต ร่วมด้วยผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ร่วมเป็นกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง รวม 36 ท่าน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องเทเวศร์ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

 

องคมนตรี ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิโครงการหลวง ได้กล่าวขอบคุณหน่วยราชการที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการหลวง ประกอบด้วย หน่วยงานในสังกัดของกองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก ตำรวจ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงาน กปร. และกรมบัญชีกลาง จากนั้น องคมนตรี จรัลธาดา กรรณสูต ได้แจ้งแก่ที่ประชุมว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ โครงการหลวงเข้าไปช่วยดำเนินการในโครงการเกษตรวิชญา ตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเดิมอยู่ในความดูแลของกรมพัฒนาที่ดิน ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านกองแห ตำบลโป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เพื่อเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ชุมชน จากนั้นได้ติดตามผลการดำเนินงานสืบเนื่อง โดยจากเดิมมูลนิธิโครงการหลวงมีพื้นที่ปฏิบัติงาน 38 แห่ง ใน 5 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน และพะเยา ผลการดำเนินงานตามแนวพระราชทานในรัชกาลที่ 9 สามารถเปลี่ยนแปลงพื้นที่ฝิ่น และไร่เลื่อนลอย เป็นพื้นที่เกษตร สร้างเศรษฐกิจดีแก่ชุมชนชาวเขา ส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ นำไปสู่โมเดลการพัฒนาพื้นที่สูง ในปลายปี พ.ศ.2559 ได้มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอขึ้นที่ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ด้วยราษฎรในพื้นที่ซึ่งเป็นชาวเขาเผ่าปกาเกอะญอ ยากจน ปลูกฝิ่น และทำไร่เลื่อนลอย ส่งผลให้เกิดปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอจึงนับเป็นพื้นที่ดำเนินการลำดับที่ 39 ของโครงการหลวง และเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแห่งแรกในรัชกาลปัจจุบัน การดำเนินการในพื้นที่ได้รับความร่วมมือจากจังหวัดตาก และหน่วยงานภาครัฐ 24 หน่วยงาน มีการจัดระเบียบการใช้พื้นที่ภายใต้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เป็นไปตามพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ขณะนี้ ศูนย์ฯ เลอตอ ส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกร 126 ราย ปลูกไม้ผล กาแฟ พืชไร่ และเลี้ยงสัตว์ ในพื้นที่จัดสรรในระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ จำนวนกว่า 100 ไร่ ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เป็นพืชแบบผสมผสาน ส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตข้าวนาดำเพื่อบริโภค ผลผลิตต่างๆ ของเกษตรกรจำหน่ายผ่านโครงการหลวง เกิดรายได้ในรอบ 3 ไตรมาส เป็นมูลค่ากว่า 1,300,000 บาท นอกจากนี้ ศูนย์ฯ เลอตอ ยังน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติ สร้างภาคีเครือข่ายพัฒนาชุมชน พัฒนาศักยภาพผู้นำ เยาวชน ลดการเคลื่อนย้ายแรงงานออกนอกพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมการปลูกป่าชาวบ้าน และหญ้าแฝกเพื่อลดการพังทลายของดิน

ปัจจุบัน พื้นที่ฝิ่นลดลงเหลือเพียง 2.69 ไร่ ที่ประชุมได้มีการรายงานการแก้ไขปัญหาการใช้พื้นที่ตามแนวทางการดำเนินงานของโครงการหลวง การก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงบนพื้นที่สูง ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เพื่อการศึกษาและพัฒนาการเลี้ยงปลาเทร้าต์บนพื้นที่สูง การให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรโครงการหลวงและผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 และปัญหาภัยแล้ง และรับฟังรายงานความก้าวหน้าการบูรณาการการปฏิบัติงานของหน่วยงานราชการตามแผนแม่บทศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ซึ่งร่วมสนับสนุนทั้งด้านการวิจัย การพัฒนาการเกษตร ปศุสัตว์ ประมง การสาธารณสุข การพัฒนาชุมชน การพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน ได้แก่ น้ำ ไฟ ถนน รวมทั้งการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการรายงานผลการศึกษาสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของเกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวง ในปี 2562

โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ผลการศึกษาในกลุ่มตัวอย่าง พบว่า การกระจายการพัฒนาทำให้รายได้ใน 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 65,000 บาทต่อครัวเรือน มีป่าเพิ่มขึ้นในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 32 แห่ง มีอัตราการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ดีขึ้น คุณภาพน้ำดีเกินร้อยละ 70 สัดส่วนคนจนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ร้อยละ 21 โครงสร้างประชากรอยู่ในวัยทำงานมากที่สุดคือ ร้อยละ 67.68 แต่แนวโน้มในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสู่เมือง ซึ่งจะต้องวางแผนรองรับ เป้าหมายของโครงการหลวง ในปี 2564 ที่สำคัญคือ เกษตรกรมีรายได้อย่างน้อย 100,000 บาท/ครัวเรือน/ปี พัฒนาสู่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพึ่งพาตนเอง จัดระเบียบที่ดินและเพิ่มพื้นที่ป่าต่อเนื่อง รวมทั้งพัฒนาระบบปฏิบัติงานสู่มาตรฐาน สามารถพึ่งพาตนเองได้ และพัฒนาการตลาดตามวิถีใหม่ โดยเข้าสู่การเป็นดิจิตัลมาร์เก็ตติ้ง และนำองค์ความรู้ที่หลากหลายถ่ายทอดให้เกิดประโยชน์สู่ประชาชนพื้นราบ จากนั้นได้พิจารณาแผนงาน งบประมาณรายรับ – รายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนงานของโครงการหลวงต่อเนื่องนั้น เป็นไปตามพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น