บกปภ.ช. สั่งการทุกจังหวัดเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย – เตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากพายุ “ซินลากู”

กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) สั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เฝ้าระวังผลกระทบจากพายุ “ซินลากู” ที่อาจทำให้เกิดอุทกภัย วาตภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยกำชับให้เจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมแจ้งเตือนประชาชนระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัย รวมถึงจัดเตรียมสถานที่ปลอดภัยสำหรับเป็นจุดอพยพหรือจุดพักพิง หากสถานการณ์รุนแรงให้อพยพประชาชนไปยังพื้นทีปลอดภัย เน้นย้ำให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์และผลกระทบจากพายุ “ซินลากู” ซึ่งส่งผลให้เกิดอุทกภัย วาตภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มในหลายพื้นที่ รวมถึงส่งผลให้เกิดคลื่นลมแรงในทะเลฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน โดยขณะนี้ (3 ส.ค.63) มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำไหลหลากรวม 10 จังหวัด 23 อำเภอ 46 ตำบล 130 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,399 ครัวเรือน กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) จึงได้สั่งการให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (บกปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุ อุทกภัยที่กำหนด จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำในพื้นที่ เพื่อวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์และแจ้งเตือนภัยให้อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชน พร้อมแจ้งเตือนภัยและสร้างการรับรู้แก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยถึงในระดับชุมชนและหมู่บ้าน โดยเฉพาะข้อมูลแนวโน้มสถานการณ์ภัยและช่องทางในการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ

นอกจากนี้ ให้บูรณาการร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จัดชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วและเครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุ พร้อมทั้งจัดเตรียมสถานที่ปลอดภัยสำหรับ เป็นจุดอพยพหรือจุดพักพิง เพื่อให้สามารถอพยพประชาชนไปยังจุดปลอดภัยได้อย่างทันท่วงที หากสถานการณ์รุนแรง คาดว่าจะเกิดอุทกภัยหรือดินโคลนถล่มในพื้นที่ ให้อพยพประชาชนไปยังพื้นที่ปลอดภัย โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่และประชาชนจิตอาสาเข้าดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นระบบ จัดสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีพ แจกจ่ายถุงยังชีพ ให้ทั่วถึง และจัดตั้งโรงครัวพระราชทาน เพื่อดูแลประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ และเมื่อสถานการณ์ในพื้นที่คลี่คลายแล้ว ให้เร่งสำรวจความเสียหายครอบคลุมทุกด้าน ทั้งด้านการดำรงชีพ พื้นที่การเกษตร และสิ่งสาธารณูโภค เพื่อให้การช่วยเหลือและฟื้นฟูพื้นที่ตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือ โดยด่วนต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น