ขานรับนโยบายนายก สรรพากร ดัน พ.ร.บ.e-Service เก็บภาษีโซเชียลมีเดีย 3,000 ล้านบาท กลับมาพัฒนาประเทศ

ในโลกยุคใหม่ที่โซเชียลมีเดีย คนไทยกว่า 51 ล้านคน ใช้ชีวิตอยู่กับโซเชียลมีเดียเฉลี่ย 3.10 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งทั้งหมดเป็นสื่อที่อยู่ในต่างประเทศ แต่เข้ามากอบโกยเม็ดเงินจากค่าโฆษณา ค่าสมาชิก ปีละจำนวนหลายหมื่นล้านบาท แต่ทว่าสื่อเหล่านี้ กลับไม่ต้องเสียภาษีใด ๆ ทั้งสิ้น โซเชียลมีเดียเหล่านี้ จึงถูกเปรียบว่าเหมือน “เสือนอนกิน” มาเป็นเวลานาน

กรมสรรพากร รับนโยบายรัฐบาลลุงตู่ เร่งเสนอร่างกฎหมาย e-Service หรือ กฎหมายการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ เพื่อบังคับใช้เก็บภาษี VAT 7% กับทุกแพลตฟอร์ม ในโซเชียลมีเดีย อาทิ เฟซบุ๊ก ยูทูป เน็ตฟลิกซ์ แอปเปิลเพย์ สปอติฟาย บุ๊คกิ้งดอทคอม อโกด้า ลาซาด้า ชอปปี้ เป็นต้น

ส่งผลให้บริษัทดิจิทัลต่างประเทศ ที่ไม่มีบริษัทลูกในประเทศไทย และมีรายได้ต่อปี จากค่าบริการตั้งแต่ 8 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องมายื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีหน้าที่เสียภาษี ตาม พ.ร.บ. e-Service โดยจากการประเมินเบื้องต้น คาดว่า มูลค่าการเก็บภาษีจะอยู่ที่ปีละ 3,000 ล้านบาท ที่สำคัญคือ การคืนความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการของไทย ที่แบกรับภาระภาษีแทนมาโดยตลอด

ทุกประเทศทั่วโลก ต่างก็คิดหาวิธีที่จะจัดเก็บภาษีกับโซเชียลมีเดียเหล่านี้ เช่นเดียวกัน

นโยบายนายกประเทศไทย ควรมีมาตรการที่ไม่ปล่อยให้โซเชียลมีเดียต่างชาติเหล่านี้ เอาเปรียบผู้ประกอบการไทย และเพื่อหารายได้กลับเข้ามาพัฒนาประเทศ

กรมสรรพากรเสนอร่างกฎหมายอี-เซอร์วิส ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว (9 มิ.ย. 63) ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา และคาดว่า กฎหมายจะบังคับใช้ภายในสิ้นปี 2563

รัฐบาลขอย้ำว่า “การเก็บภาษี” นี้… ไม่ใช่เก็บจากตัวสินค้า แต่เป็นการเก็บจากค่าบริการ และค่าโฆษณา ผ่านแต่ละแพลตฟอร์ม ซึ่งปัจจุบัน “ธุรกรรมออนไลน์” เติบโตหลายเท่าตัว ทำให้รายได้ของบริษัทต่างชาติเหล่านี้ เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด

ร่วมแสดงความคิดเห็น