ขนส่งแจงใบขับขี่ตลอดชีพ กลุ่มผู้สูงวัย อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ตามที่กรมการขนส่งทางบกมีแนวคิดในการเปลี่ยนใบขับขี่ตลอดชีพจากบัตรแบบกระดาษมาเป็นแบบสมาร์ทการ์ด มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ฐานข้อมูลผู้ถือใบขับขี่มีความสมบูรณ์และเป็นปัจจุบันมากขึ้น เพราะผู้ถือใบขับขี่ตลอดชีพส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและอยู่ในฐานข้อมูลระบบเดิม หากมาเปลี่ยนเป็นแบบสมาร์ทการ์ดที่มี คิวอาร์โค้ดแล้วจะมีฐานข้อมูลผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปต่อยอดพัฒนามาตรฐานใบอนุญาตขับรถของประเทศไทยครอบคลุมทุกมิติ เพื่อยกระดับความปลอดภัยทางถนน ส่วนการทดสอบสมรรถภาพผู้ถือใบขับขี่ตลอดชีพใหม่ยังเป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น ยังไม่มีการกำหนดมาตรการหรือแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจน

“เพราะการกำหนดให้กลับมาทดสอบเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งกรมการขนส่งทางบกอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ ที่มาของแนวคิดดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความปลอดภัยในการขับขี่ของประชาชนและผู้ใช้รถใช้ถนน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถมีความพร้อมเพียงพอ จึงต้องหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน”

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันนี้มีความเข้มข้นในกระบวนการก่อนออกใบอนุญาตขับรถ มีการทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย ประกอบด้วยความสามารถในการมองเห็นสัญญาณไฟจราจร การใช้สายตาทางลึก ทางกว้าง และปฏิกิริยาการใช้เบรก

 

นอกจากนี้ยังเห็นถึงความสำคัญในการใช้รถร่วมกันกับผู้สูงอายุ การอบรมได้เพิ่มเนื้อหาอบรมให้ทราบถึงลักษณะและสภาวะการใช้รถของผู้สูงอายุ เพื่อให้เกิดทัศนคติที่ดีในการใช้รถร่วมกันระหว่างวัยที่แตกต่างกัน และในอนาคต ได้จัดทำแนวทางในการยกระดับมาตรฐานการออกใบอนุญาตขับรถ 7 มิติด้วยกัน โดยเฉพาะมิติที่ 1 ในเรื่องการกำหนดสภาวะของโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการขับรถ และมิติที่ 2 การประเมินสภาวะของร่างกายที่มีผลต่อการขับรถ ซึ่งทั้งสองมิติได้หารือร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงสาธารณสุขและแพทยสภา โดยเฉพาะเมื่อผู้ขับขี่สูงอายุมากขึ้น สภาวะของโรคที่เกิดตามมาและสภาวะร่างกายอาจเป็นอุปสรรคต่อการขับรถได้

 

ทั้งนี้ในมาตรการส่งเสริมการขับขี่ปลอดภัย มีกิจกรรมหลากหลาย อาทิ โครงการอบรมเสริมความรู้ให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถ ในวันเสาร์-อาทิตย์ สำหรับผู้ที่ยังไม่มีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ โดยใช้ระยะเวลา 2 วัน ผู้สมัครต้องมีอายุ 15 ปี บริบูรณ์ขึ้นไปและเป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นแล้ว ผู้สมัครไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมโครงการ ผู้ผ่านการทดสอบที่ได้รับใบอนุญาตขับรถ มีค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขับรถตามระเบียบเท่านั้น ซึ่งสำนักงานขนส่งทุกจังหวัดก็ดำเนินการตามสถานศึกษาต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

ด้านเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า จากสถิติอุบัติเหตุที่รายงานผ่านศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุและเครือข่าย, กู้ภัยแต่ละชุมชน พื้นที่จะพบว่า อัตราการเกิดอุบัติเหตุแต่ละวัน มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ในอัตราที่สูง โดยในกลุ่มเยาวชนและผู้สูงวัยที่มีโรคเฉพาะ เกิดอุบัติเหตุในหลาย ๆ ท้องที่

ดังนั้น มาตรการคุมเข้มใบอนุญาติขับขี่ด้านเดียว คงไม่สามารถป้องกันเหตุที่เกิดจากความประมาท บนท้องถนนได้ แต่ต้องมีมาตรการด้านอื่น ๆ เสริมทั้งการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข็มงวดในกลุ่มผู้ดื่มเมาแล้วขับขี่ ทั้งเพิกถอนใบอนุญาติ หรือการตัดแต้ม ขณะเดียวกันสภาพถนนหนทางต่าง ๆ ก็เป็นอีกปัจจัยในการเกิดอุบัติเหตุได้เช่นกัน

“หน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นขนส่ง, ทางหลวง, ตำรวจ ต้องบูรณาการความร่วมมือ ในการบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนน เพราะหากแต่ละหน่วยงานยึดโยงกับกรอบงานตามภารกิจหน้าที่ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จะมีปัญหาตามมา เช่น กรณีผู้สูงวัย ขับขี่รถ ต้องตรวจสอบ ตรวจใบขับขี่เข้มงวดกว่ากลุ่มอื่น อาจเป็นช่องทางแสวงประโยชน์ของเจ้าหน้าที่บางกลุ่ม ตามด่าน ตามจุดสกัดได้”

ร่วมแสดงความคิดเห็น