ไล่รื้อชุมชนรุกแม่ข่า “คลองเงิน” บทเรียนปัญหาคนไร้บ้านเชียงใหม่

คณะทำงานโครงการคืนน้ำใสให้คลองแม่ข่า นครเชียงใหม่ กล่าวว่า การรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ชุมชนที่พักซึ่งรุกล้ำคร่อมคลองแม่ข่า ร่องกระแจะ คูคลองสาขา เป็นหนึ่งใน 8 มาตรการตามแผนแม่บทจัดการคลองแม่ข่า ที่มีความยาวกว่า 31 กม.และช่วงไหลผ่านเขตเมืองจะมีความยาวมากกว่าช่วงอื่นๆคือราวๆ13 กม. ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำปิงที่ อ.หางดง

ที่ผ่านๆมาหลาย ๆ ภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนได้ร่วมมือกันตามมาตรการที่ประชุมหารือสรุปร่วมกัน 8 ด้าน อาทิการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียและปรับปรุงคุณภาพน้ำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ, การแก้ไขปัญหาบุกรุกลำน้ำและการกำหนดแนวเขตคลองแม่ข่าที่ชัดเจน, การปรับปรุงภูมิทัศน์ 2 ฝั่งคลองแม่ข่า การสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมดูแลรักษา เป็นต้น

” ยอมรับว่า ปัญหาเรื่องการบุกรุกสร้างบ้าน ที่พักและสิ่งปลูกสร้าง ที่เป็นส่วนหนึ่งของการปล่อยน้ำเสีย ทิ้งขยะลงคลอง ร่องน้ำ สั่งสมปัญหามานานร่วมๆ30 ปี กว่าจะใช้มาตรการบังคับทางกฎหมาย เพราะชาวบ้านไม่ยอมย้าย อ้างยากจน ไม่มีที่จะไปทั้ง คลองคูไหว บ้านท่อ ป่าแพ่ง ศรีมงคล และคลองเงินที่ยังเหลืออีก 4 หลังเป็นความยากลำบากใจ”

เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และคณะทำงานศูนย์คนไร้บ้านเชียงใหม่ กล่าวว่า การแสดงความเห็นใจต่อชาวบ้านที่ถูกรื้อถอนที่พัก ซึ่งอาศัยอยู่กันตั้งแต่รุ่นพ่อ รุ่นแม่ ไม่เพียงพอ แต่ต้องแสดงความรับผิดชอบในการหาทางออก แก้ปัญหาความเดือดร้อนร่วมกันด้วย

“เฉพาะบ้าน 4 หลังในชุมชนคลองเงินที่เหลือรอด รอคอยการรื้อถอน ขณะนี้บังเอิญเป็นช่วงโควิด-19 คาดว่าเร็ว ๆ นี้คงรื้อถอนตามแผนอยู่แล้ว ประเด็นนี้จะเป็นบทเรียนให้ผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่การออกเลขที่บ้าน การจัดหาน้ำ ไฟเข้าไป การปล่อยปละละเลย ให้มีชาวบ้านอพยพเข้าไปอยู่อาศัยตามพื้นที่สาธารณะ หรือแม้แต่คลองแม่ข่า ซึ่งตามรายทาง 2 ฝั่งคลอง ตามแผนแม่บทในอนาคตจะมีหลักประกันใดบ้าง ที่ผู้คนใน 26 ชุมชนจะไม่ได้รับผลกระทบตามมาตรการจัดการคลองแม่ข่า โดยเฉพาะการปรับภูมิทัศน์ การไล่รื้อชุมชนที่เป็นทัศนอุจาดตา ซึ่งยังรู้สึกดีที่ว่าทางการให้เกียรติไม่เรียกหรือตอกย้ำใช้คำว่าชุมชนสลัม”

ด้านชาวบ้านที่อาศัยในชุมชนคลองเงิน กล่าวว่า ส่วนหนึ่งอยู่กันมานานกว่า 30 ปี เมื่อมีคำสั่งให้รื้อย้ายบ้านที่พัก ทำให้เดือดร้อน เนื่องจากมีฐานะยากจน หาเช้ากินค่ำ รับจ้างรายวันทั้งนั้น ต้องพาครอบครัวไปอาศัยตามบ้านญาติ ๆ  ไปเช่าบ้านกัน ซึ่งทุกคนพร้อมทำตามมติ คำสั่งเพื่อเชียงใหม่ให้ดูดีสวยงาม

“แต่เทศบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแผนงาน ควรหาทางออกให้ชาวบ้านด้วย ไม่ใช่อ้างเพียงว่ามีการเจรจา ทำความเข้าใจกันมานาน ให้โอกาสขนย้ายออกไป จนต้องบังคับด้วยกฎหมาย ซึ่งถ้าคลองเงิน หรือชุมชนอื่น ๆ ถูกรื้อถอนจากกรณีที่บุกรุกแม่ข่า ต่อไปชุมชนหลาย ๆ แห่งก็ต้องใช้บังคับตามมาตรฐานเดียวกัน หากจะจัดการปัญหาคลองแม่ข่าให้น้ำใส ริมฝั่งคลองสวยงาม เพราะถ้าระยะต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ไม่ดำเนินต่อเนื่อง ตามแผนที่ประกาศในทุกระยะ ก็ยังจะเห็นสภาพน้ำเหม็นคาว เพราะปล่อยน้ำทิ้งจากอาคาร บ้านเรือน ขยะ วัชพืชขึ้นปกคลุม จนมีการร้องผ่านสื่อสังคมจึงค่อยขยับแก้ไขทีละพื้นที่”

ในขณะที่ ผู้บริหารท้องถิ่น ระบุว่าการแแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่า มีทั้งระยะสั้น ระยะยาว ทั้งจัดหาแหล่งน้ำต้นทุน หล่อเลี้ยงคลองแม่ข่าให้มีน้ำไหลตลอดทั้งปี โดยสำนักชลประทานที่ 1 จัดทำคลองส่งน้ำผันน้ำจากลำเหมืองสาลงสู่คลองแม่ข่า ระยะทาง 8.25 กม. การขุดลอกคลองแม่ข่า โดยสำนักงานพัฒนา ภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ดำเนินการขุดลอกช่วงปลายน้ำ ระยะทาง 14.94 กม. ประเด็นที่ต้องทำต่อเนื่องคือการจัดการน้ำเสีย เทศบาลนครเชียงใหม่ แบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ โดยระยะสั้นจะตรวจสอบคุณภาพน้ำทิ้งอย่างสม่ำเสมอ ติดตั้งตาข่ายดักขยะจากท่อระบายน้ำก่อนลงสู่คลองแม่ข่า ระยะกลาง จะเร่งติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียอย่างง่ายสำหรับครัวเรือน เชื่อมท่อระบายน้ำจากถนนเข้าสู่ท่อรวบรวมน้ำเสีย เพื่อส่งไปบำบัด และระยะยาว อีกหลายแผน

“บริเวณโดยรอบริมสองฝั่งคลอง ก็มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ด้วยการติดตั้งไฟส่องสว่าง มีการปลูกต้นไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับ จนเกิดเป็นบรรยากาศที่สวยงาม สามารถใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจได้”

ทั้งนี้ชุมชนคลองเงิน มีการบุกรุกสร้างที่พักอาศัยตั้งแต่ พ.ศ. 2525 ก่อนจะถูกไล่รื้อจริง ๆ จัง ๆ ตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2561 หลังจังหวัดมีแผนแม่บทคลองแม่ข่า (พ.ศ. 2561 – 2565) เข้ามาพัฒนาคลองแม่ข่าและจัดระเบียบชุมชนบริเวณที่น้ำในคลองแม่ข่าไหลผ่านทั้งหมด ก่อนหน้านั้นปีพศ.2557 ก็ไล่รื้อมาระยะหนึ่งแล้ว คาดว่าจะมีบ้านที่พักใน 26 ชุมชน เริ่มตั้งแต่ชุมชนเอื้ออาทรป่าตัน ไปจรดป่าพร้าวนอก ชุมชนที่แออัดรุกลำคลองน่าจะถูกไล่รื้ออีก เพราะเป็นแม่น้ำข่าช่วง 2 ระยะกว่า2.75 กม.ถือว่ามีสภาพค่อนข้างวิกฤติ มีบ้านเรือนหนาแน่น น้ำเน่าดำ มีกลิ่นเหม็น มีปัญหาการบุกรุกสูง ขาดการมีส่วนร่วมแก้ปัญหา จะไหลผ่านเมืองเชียงใหม่ จากพื้นที่ 3 อำเภอ 8 อปท.ก่อนจะเข้าสู่ช่วงปลายน้ำที่ต.สบแม่ข่า อ.หางดง

ร่วมแสดงความคิดเห็น