ปศุสัตว์จังหวัดแพร่ สั่งเข้มคุมพื้นที่ป้องกันโรคเฮโมรายิกเซพติซีเมีย หรือ โรคคอบวมย้ำ “รู้เร็ว คุมเร็ว โรคสงบเร็ว”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงฤดูฝนนี้ เป็นช่วงที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะ โคและกระบือมักจะประสบปัญหาสัตว์ป่วย ทำให้ นายสัตวแพทย์ ดร. สมพร พรวิเศษศิริกุล ปศุสัตว์จังหวัดแพร่ ได้ทำการ ประชาสัมพันธ์ สร้างความรับรู้ แก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ผู้เลี้ยงสัตว์ และประชาชนในพื้นที่จังหวัดแพร่ ให้รับรู้และเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ในช่วงฤดูฝน ตามช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ

ขณะเดียวกัน ปศุสัตว์จังหวัดแพร่ ออกติดตามให้กำลังใจการปฏิบัติงานชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่ฉีดวัคซีนรอบจุดเกิดโรควันที่ 6 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา น.สพ.ดร.สมพร พรวิเศษศิริกุล ปศุสัตว์จังหวัดแพร่ ออกติดตามการปฏิบัติงานชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่ฉีดวัคซีนรอบจุดเกิดโรค (Ring vaccination) ซึ่งเป็นข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแพร่ เพื่อให้กำลังใจในการปฏิบัติงานในพื้นที่อำเภอเด่นชัยและอำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ โดยวันนี้ฉีดวัคซีนกระบือได้ครบทุกตัวในรัศมี 5 กม. พร้อมให้องค์ความรู้กับเจ้าของสัตว์และการพูดคุยทำความเข้าใจกับเจ้าของสัตว์ให้สังเกตอาการหลังฉีดวัคซีน “รู้เร็ว คุมเร็ว โรคสงบเร็ว” เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์หากสัตว์ของท่านเกิดโรคให้รีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที

เมื่อวันที่ 9-10 สิงหาคม 2563 น.สพ.ดร.สมพร พรวิเศษศิริกุล ปศุสัตว์จังหวัดแพร่ ได้สั่งการให้นายวิฑูรย์ สุทธิจินดา ปศุสัตว์อำเภอสูงเม่น สำนักงานปศุสัตว์อำเภอสูงเม่น พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอฯ ออกปฏิบัติการเฝ้าระวังโรคระบาด โรคเฮโมรายิกเซฟติซีเมีย หรือ “โรคคอบวม” ณ พื้นที่ ม.3 ตำบลบ้านกวาง อ.สูงเม่น จ.แพร่
สำหรับโรคเฮโมรายิกเซพติซีเมีย หรือ โรคคอบวม เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หลักๆกระทบในกระบือและโค ในสัตว์ที่ไม่เคยมีภูมิคุ้มกันโรคมาก่อนสัตว์จะแสดงอาการป่วยรุนแรง และตายภายใน 24 ชั่วโมง เชื้อสามารถแอบอยู่ใน 5% ของต่อมทอนซิล ของกระบือและโคที่สุขภาพดีและเพิ่มจำนวนแพร่กระจายออกมาตอนเครียดหรืออ่อนแอ เช่น ช่วงที่อากาศร้อนหรือชื้น ป่วยติดเชื้ออื่นๆ (พยาธิในเลือดหรือโรคปากและเท้าเปื่อย) อาหารคุณภาพแย่ ถึงแม้ว่าจะเกิดการระบาดได้ทุกเวลา แต่มักเกิดการระบาดบ่อยตอนหน้าฝน เนื่องจากอากาศร้อนชื้นซึ่งเอื้อให้เชื้อมีชีวิตในสิ่งแวดล้อม และสัตว์อ่อนแอ
– ติดเชื้อจากการสัมผัสสิ่งคัดหลั่งที่มีเชื้อโรค (เช่น น้ำลาย น้ำมูก) หรือจากการกินน้ำหรืออาหารที่ปนเปื้อน
– จากการกินอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ

อาการ
– ป่วยแบบรุนแรงฉับพลันจะตายภายใน 8-24 ชั่วโมง สัตว์จะมีไข้สูง (40-41.1 องศาเซลเซียส) น้ำมูกน้ำลายไหล หายใจลำบาก และมีการพองบวมน้ำใต้ผิวหนังบริเวณขากรรไกร คอหอย ลามไปยังช่วงล่างของคอและอก บางกรณีพบขาหน้าบวม หายใจลำบากเนื่องจากทางเดินหายใจถูกกด ม่วง ท้องเสียงและล้มลงนอน และตาย
เนื่องจากระยะเวลาของโรคสั้น ผู้เลี้ยงจึงมักสังเกตอาการเหล่านี้ไม่ทัน

การรักษา
– ยาปฏิชีวนะจะมีประสิทธิภาพในการรักษาเมื่อสัตว์เพิ่งป่วยระยะแรกๆ แต่ส่วนมากมักจะให้ไม่ทันเนื่องจากโรคพัฒนาเร็ว ทำให้การให้ยาปฏิชีวนะไม่ได้ผล ในช่วงที่เกิดการระบาด สัตว์ที่มีไข้ควรให้ยาปฏิชีวนะเข้าเส้นเลือดโดยสัตวแพทย์ให้เร็วที่สุด ยกตัวอย่างยาปฏิชีวนะที่ใช้เช่น sulfonamides, tetracyclines, penicillin, gentamicin, kanamycin, ceftiofur, enrofloxacin, tilmicosin, และ chloramphenicol

การป้องกันโรค
– วิธีที่ดีที่สุด คือ ฉีดวัคซีนเชื้อตายอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันโรค โรคนี้เราสามารถป้องกันได้ วัคซีนของกรมปศุสัตว์ให้ในสัตว์อายุ 4 เดือนขึ้นไป ฉีดเข้ากล้ามเนื้อลึก และกระตุ้นซ้ำห่างกัน 1-3 เดือน (อายุ 6 เดือน) จากนั้นฉีดวัคซีนปีละหนึ่งครั้ง ควรฉีดให้ครอบคลุมสัตว์ทุกตัวในฝูง อย่างน้อย > 70% ของฝูง เพื่อประสิทธิภาพในการคุ้มโรค – วัคซีนของกรมปศุสัตว์สามารถให้ความคุ้มโรคได้เกือบ 100% นานถึง 1 ปี

ร่วมแสดงความคิดเห็น