เด็กเรียน ป.ตรี ลด ม.รามคำแหง ปรับตัว ตั้งคณะแพทย์-พยาบาล รับสังคมสูงวัย

ศิษย์เก่า ม.รามคำแหง พื้นที่ภาคเหนือ (เชียงใหม่) กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวทางพัฒนา ยกระดับคุณภาพการศึกษาของ ม.รามคำแหง ที่จะเปิดหลักสูตรคณะแพทย์และคณะพยาบาล เป็นทางเลือกในตลาดการศึกษา ยังไม่ชัดเจนในรายละเอียดว่าค่าหน่วยกิตจะยังคงรักษาฐานเดิมได้มากน้อยเพียงใด

“ทุกมหาวิทยาลัยล้วนมีจุดเด่น ในระบบการเรียน การสอน จุดแข็งของรามคำแหง ไม่แตกต่างจากสถาบันการศึกษาดัง ๆ ในอดีตที่เคยดำรงสถานะเป็นตลาดวิชา การที่คณะผู้บริหารเล็งเห็นแนวโน้มกระบวนการศึกษาในไทยที่ต้องเปลี่ยนแปลงรองรับอนาคตเป็นเรื่องที่ศิษย์เก่าต้องช่วยกันผลักดันด้วย”

เท่าที่ทราบเบื้องต้น ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ รักษาราชการแทนอธิการบดี ม.รามคำแหง ระบุว่าภาวะการแข่งขันที่รุนแรงของสถาบันระดับอุดมศึกษา มีผลทำให้นักศึกษาใหม่ (ระดับปริญญาตรี) ปีการศึกษา 2563 เทอมแรกลดลงถึง 15% อยู่ที่ 33,000 คน

“ตั้งแต่ก่อตั้งมา เมื่อปี 2514 มีศิษย์เก่า สร้างคุณานุคุณต่อบ้านเมืองมากมาย ยุคสมัยเปลี่ยน ทุกอย่างต้องปรับตัวแนวทางการเรียนผ่านออนไลน์ เป็นอีกแผนที่ต้องเร่งทำ โดยคณะต่าง ๆ กำลังสำรวจศักยภาพและความพร้อม ขยายตลาดในต่างประเทศมากขึ้น ร่วมกับศิษย์เก่าที่ทำงานในต่างประเทศและร่างหลักสูตรจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ จากที่มีอยู่ 15 คณะวิชา เพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัยนำเสนอให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และแพทยสภาพิจารณาต่อไป”

 

ศิษย์เก่ารามคำแหง จ.ลำพูน กล่าวว่า รามคำแหงมีจุดเด่นที่ค่าเล่าเรียนถูก จากอัตรา 18 บาทต่อหน่วยกิต มาถึงปัจจุบันอยู่ที่ 25 บาทต่อหน่วยกิต ขณะที่สถาบันระดับอุดมศึกษาอื่น ๆ ทั้งในของรัฐและเอกชน มีอัตราที่นักเรียน ผู้ปกครอง รับรู้และต้องบริหารจัดการคาเทอม ในแต่ละสาขา คณะตามศักยภาพแต่ละราย

“ทางออกในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา อาจมีการกู้ยืมกองทุน กยศ. หรือได้ทุนเล่าเรียน แต่ปัญหาที่สังคมรับทราบกันคือแต่ละปีจะมีบัณฑิตป้ายแดง จบออกมาปีละไม่น้อย ต้องดิ้นรน แย่งหางานทำ เปิดสอบรับราชการท้องถิ่นปี 2560 สมัครกัน 6-7 แสน บรรจุได้ไม่ถึง 2 หมื่น จากที่สอบผ่าน 3 หมื่นคน เป็นต้น การเปิดหลักสูตรที่มีตำหน่งงานรองรับ ตอบสนองสังคมในอนาคตอย่างตรงจุด จึงเป็นแนวทางที่ทุกภาคส่วนต้องส่งเสริม สนับสนุน”

 

สำหรับปีการศึกษา 2564 นั้น สถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ เริ่มเปิดกระบวนการรับสมัครกันแล้ว อาทิ ม.แม่โจ้  เปิดรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 และ 5 ปี และหลักสูตร 4 ปี เทียบเรียน รอบที่ 1 สมัครผ่านเว็บไซต์ admissions.mju.ac.th 15 ก.ย. – 31 ต.ค. 2563 พิจารณาจากแฟ้มสะสมผลงาน และบทความ ประกาศผล 15 พ.ย. 2563 ลงทะเบียน mytcas.com : 5 ม.ค. 2564 ประกาศผล (ทปอ.) : 22 ก.พ. 2564 ยืนยันสิทธิ์ 22-23 ก.พ. 2564 ชำระเงินค่าธรรมเนียมแรกเข้า 24-29 ก.พ. 2564ส่วนหลักสูตร 4 ปี เทียบเรียน รอบที่ 1 สมัคร และประกาศผลช่วงเดียวกัน ชำระเงินค่าธรรมเนียมแรกเข้า 15-30 พ.ย. 2563 เป็นต้น

 

ในภาพรวม การยืนยันสิทธิ์เข้าเรียนสถาบันอุดมศึกษา ผ่านกระบวนการทีแคส ของเด็ก ๆ ในปี 2563 นั้น พบว่า ต่ำกว่าที่ประกาศรับไว้ทุกรอบ ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของที่ประกาศรับ โดยรอบแรก รับ 138,230 ที่นั่ง ใช้สิทธิ์ 60,459 ที่นั่ง รอบที่ 2 รับ 124,014 ที่นั่ง ใช้สิทธิ์ 43,829 ที่นั่ง รอบที่ 3 รับ 135,431 ที่นั่ง ใช้สิทธิ์ 47,277 ที่นั่ง รอบที่ 4 รับ 120,966 ที่นั่ง ใช้สิทธิ์ 35,812 ที่นั่ง และรอบที่ 5 รับ 46,663 ที่นั่ง ใช้สิทธิ์ 12,954 ที่นั่ง

ผู้บริหาร สถานศึกษา ม.เอกชน ในเชียงใหม่ กล่าวว่า บางสาขาที่หวังรองรับอนาคต ก็เผชิญเรื่องเหนือความคาดหมาย คือ โควิด-19 จนส่งผลต่อความสนใจด้านสาขา คณะธุรกิจการบิน, นักบิน ซึ่งแนวทางที่หลาย ๆ มหาวิทยาลัย ร่างหลักสูตรเพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัย

“คาดหวังว่าจะตอบโจทย์ อนาคต สังคมบ้านเราได้ตรงเป้าหมาย ประกอบกับครอบครัวเด็ก ๆ มุ่งเน้นไปสาขา คณะที่สอนทักษะ ด้านอาชีพ สามารถสร้างงาน ได้จากความรู้ที่เล่าเรียน ส่วนหนึ่งจะเป็นพวกงานช่าง อีกทั้งจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลง การวางหลักสูตร พัฒนาสาขา วิชา แต่ละคณะ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้บริหาร มหาวิทยาลัยทุก แห่ง ต่างคิด วางแผน ดำเนินการ ไม่เช่นนั้น ภาวะแข่งขันรุนแรง เด็กเรียน ป.ตรีน้อยลง มหาวิทยาลัยก็คงอยู่ไม่รอด”

ร่วมแสดงความคิดเห็น