ต้นขนุนพระนางจามเทวี ศิลปกรรมรูปแบบล้านนาที่ทรงคุณค่า “วัดเวียง” อ.เถิน

“วัดเวียง” นับว่าเป็นวัดสำคัญอีกวัดของ อ.เถิน จ.ลำปาง ที่มีเรื่องราวประวัติศาสตร์ งานศิลปกรรม สถาปัตยกรรมล้านนาเก่าแก่อันทรงคุณค่า ที่ยังเหลืออยู่ให้ได้ศึกษาเรียนรู้ และยังอนุรักษ์ไว้ที่ “วัดเวียง”

วัดเวียง ตั้งอยู่ที่ 301 บ้านเวียง ต.ล้อมแรด อ.เถิน จ.ลำปาง เป็นวัดสำคัญ ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเถิน ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านสมัยโบราณ สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดมีหลายจุด ประกอบด้วย ต้นขนุนพระนางจามเทวี ในปี พ.ศ. 1157 เจ้าดาวแก้วไข่ฟ้า เจ้าเมืองเถิน ได้สร้างวิหารอุโบสถขึ้น พระนางจามเทวี พระสหายของเจ้าเมืองได้ช่วยก่อสร้าง พระนางจามเทวี ได้ปลูกต้นขนุนขึ้นเพื่อเป็นหลักเมืองเรียกว่า ขนุนนางจามเทวี ต้นขนุนจามเทวีมี 3 ต้น อยู่ที่ วัดพระธาตุดอยสุเทพ วัดพระธาตุลำปางหลวง และวัดเวียง

ประตูโขง พัฒนาขึ้นจากเจดีย์แบบมณฑปปราสาท 5 ยอดของล้านนา เมื่อลอดซุ้มประตูสู่แดนศักดิ์สิทธิ์ฐานประตูโขง ยกเก็จย่อมุม 16 ขอบซุ้มประตู เป็นลายพันธุ์พฤกษา สองข้างเป็นกินรี ตรงกลางเป็นมังกรคายนาค หางมังกรพันกันเหนือซุ้ม ใต้ซุ้มประตู วงล้อพระธรรมด้านข้างเป็น คชสีห์ และ สกุณไกรสรหัวเป็นนก ตัวเป็นสิงห์ ไม่มีปีก ด้านข้างเป็นกินรีร่ายรำ

วิหาร เป็นวิหารโถงล้านนา วิหารล้านนาจะแบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น 3 ส่วน ไม่มีฝาผนังด้านข้าง ยกเว้นส่วนที่ประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งอยู่หล้งสุด เรียบวิหารโถงด้านหน้าหลังคาซ้อน 3 ชั้น ตามความยาวของวิหาร แบ่งเป็นส่วนหน้าสุดของคนทั่วไป ตรงกลางที่หลังคาสูง เป็นที่สำหรับพระสงฆ์ ด้านหลังซ้อน 2 ชั้น ตามความยาวของวิหาร ผนังปิด เป็นที่ประดิษฐานพระประธาน ผนังด้านหน้ามีงานประติมากรรมนูนต่ำรูปลิงมีหางเป็นปลาคือ “มัจฉานุ” ด้านล่างวิหารเปิดโล่ง วิหารโถงเหมือนวัดพระธาตุลำปางหลวง วัดไหล่หิน และวัดปงยางคก

หลังจากหลวงปู่แสนคำ และพระสงฆ์ ได้ช่วยกันบูรณะวัดเวียง แล้วมีเสาวิหารต้นหนึ่ง มีนางไม้ออกไปเล่นน้ำที่หนองท่วม ห่างจากวัดประมาณ 2 กิโลเมตร ตอนเช้าจะมีจอกแหนติดอยู่ปลายเสา บางทีหอยติดมาด้วย หลวงปู่แสนคำจึงใช้คาถาสะกดเสาต้นนี้และเอาโซ่เหล็กมาผูกไว้ที่โคนเสา จากนั้นก็มีผึ้งมาทำรังในโพรงเสาและมีหมีมาควักกินน้ำผึ้ง ทำให้เสาแตก หลวงปู่แสนคำจึงสั่งให้เอาเสานั้นออก แล้วก่ออิฐฉาบปูนขึ้นแทนเสาต้นเดิม โครงหลังคา ม้าต่างไหมเสาเขียนลายคำ

ซุ้มพระเจ้า มีลักษณะรูปแบบเหมือนวัดพระธาตุลำปางหลวง วัดไหล่หิน และวัดปงยางคก ประดิษฐานพระเพชร ปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน ซุ้มพระเจ้ายกเก็จย่อมุม ซุ้มด้านข้าง ลวดลายฐานชุกชี เครื่องสูงหรือราชกุธภัณฑ์ ธรรมาสน์ ล้านนา

จิตรกรรมฝาผนัง “ฝาน้ำย้อย” พ.ศ. 2534 ทางวัดได้ขออนุญาตไปยังกรมศาสนา เพื่อซ่อมแซมภาพจิตรกรรมฝาผนัง ฝาน้ำย้อยด้านในวิหาร ซึ่งเป็นลายรดน้ำและขออนุรักษ์รูปแบบลวดลายคงเดิมไว้ ก็ได้รับอนุญาตให้บูรณะได้ จึงได้ลงมือบูรณะซ่อมแซม โดยช่างเขียนลวดลายจากเชียงใหม่ ฝาน้ำย้อย คือผนังไม้ที่ยื่นลงมาจากขื่อลงมาเพื่อกันแดดและฝน เนื่องจากวิหารโถงล้านนาไม่มีผนังจิตรกรรมฝาผนังที่ฝาน้ำย้อย

ปิดท้ายด้วย “คันทวย” ทางภาคเหนือจะเรียกทวยหูช้าง มีลักษณะการแกะสลักแผ่นไม้รูปสามเหลี่ยมติดกับเสาหรือผนัง บนแผ่นไม้มีการสลักลวดลาย พญานาคผสมผสานมังกรเข้ากันไว้อย่างลงตัว
“วัดเวียงนับได้ว่าเป็นวิหารศิลปะล้านนาที่ยังสมบูรณ์ทรงคุณค่า ที่ขอเชิญชวนผู้ที่ชื่นชอบศิลปกรรมล้านนาต้องหาโอกาสไปชมซักครั้ง”

การเดินทาง/ รถยนต์ส่วนตัว จาก อ.เถิน ใช้ทางหลวงหมายเลข 106 ไปทาง อ.ลี้ จ.ลำพูน เมื่อข้ามสะพานข้ามแม่น้ำวังให้เลี้ยวซ้ายขับตรงไปประมาณ 1.5 กม. วัดเวียงจะอยู่ทางขวามือ
วัดเวียง 42 บ้านเวียง 6 ต.ล้อมแรด อ.เถิน ลำปาง 5216 Facebook : วัดเวียง อ.เถิน จ.ลำปาง

ร่วมแสดงความคิดเห็น