(มีคลิป) สพป.เชียงใหม่เขต 1 เปิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การนำเสนอผลงานและการประกวดแข่งขันกิจกรรมการเรียนรู้ โครงการโรงเรียนสุจริต ภาคเหนือ

วันที่ 26 กันยายน 2563 ดร.ภูธร  จันทะหงส์ ปุณยจรัสธำรง รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารการจัดการศึกษา สพฐ.เป็นประธานในพิธีเปิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การนำเสนอผลงานและการประกวดแข่งขันกิจกรรมการเรียนรู้ภายใต้โครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลในสถานศึกษา (โครงการโรงเรียนสุจริต) ระดับภูมิภาค ประจำปี พ.ศ. 2563  “ภาคเหนือ” ระหว่างวันที่ 26-28 กันยายน 2563 ดร.รตนภูมิ โนสุ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 กล่าวต้อนรับ นำกล่าวคำปฏิญญาโรงเรียนสุจริต ณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ดร.ภูธร  จันทะหงส์ ปุณยจรัสธำรง รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารการจัดการศึกษา สพฐ. กล่าวว่าปัจจุบัน ปัญหาคอร์รัปชันถือได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย แม้ว่าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ความทันสมัย มีระบบการบริหารราชการสมัยใหม่ มีการรณรงค์จากองค์กรของรัฐ หรือองค์กรอิสระต่าง ๆ แต่ปัญหานี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะหมดไป อีกทั้งยังทวีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ

สำหรับประเทศไทย ได้มีองค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญในการจัดการปัญหาคอร์รัปชันนี้ให้หมดไป โดยเฉพาะหน่วยงานด้านการศึกษา ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในฐานะองค์กรหลักที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาให้กับเยาวชนส่วนใหญ่ของประเทศให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในอนาคตได้กำหนดนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 นโยบายที่ 1 จัดการศึกษาเพื่อความมั่นคง ที่กำหนดเป้าประสงค์ให้ผู้เรียนทุกคนมีคุณธรรม จริยธรรม มีค่านิยมที่พึงประสงค์ มีจิตสาธารณะ รับผิดชอบต่อสังคมและผู้อื่น มัธยัสถ์ อดออม โอบอ้อมอารี มีวินัย รักษาศีลธรรม เพื่อมุ่งเน้นให้นักเรียนเป็นคนเก่ง คนดีของสังคมและเป็นกำลังสำคัญประเทศชาติ สอดคล้องกับ ยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560–2564) ได้กำหนดวิสัยทัศน์ว่า “ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต (Zero Tolerance & Clean Thailand)” มีพันธกิจในการสร้างวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริต ยกระดับธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ ทุกภาคส่วนแบบบูรณาการและปฏิรูปกระบวนการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตทั้งระบบ ให้มีมาตรฐานสากล

 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสังคมที่มีพฤติกรรมร่วมต้านการทุจริตในวงกว้าง และมีปัจจัยความสำเร็จในการบรรลุวัตถุประสงค์ คือ ทุกภาคส่วนร่วมส่งเสริมการกล่อมเกลาทางสังคม และส่งเสริมการเรียนรู้ในทุกช่วงวัย ตั้งแต่ปฐมวัย รวมถึงผนึกกำลังและความร่วมมือทุกภาคส่วน ในการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่นำไปสู่สังคม ที่มีค่านิยมร่วมต้านทุจริต และมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ สร้างนวัตกรรมในการต่อต้านการทุจริต มีกลไกป้องกันการทุจริตและระบบบริหารจัดการ ตามหลักธรรมาภิบาล

โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ เด็กและเยาวชน ทั้งนี้ มีความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต โดยดำเนินการผ่านกลยุทธ์การปรับฐานความคิดทุกช่วงวัย ตั้งแต่ปฐมวัยให้สามารถแยกระหว่างผลประโยชน์ส่วนตน และผลประโยชน์ส่วนรวม และส่งเสริมให้มีระบบและกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมเพื่อต้านทุจริต พร้อมทั้งเสริมพลังการมีส่วนร่วมของพลเมือง (Civic Participation) และบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อต่อต้านการทุจริต อีกทั้งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ยุทธศาสตร์ที่ 6 ที่มีแผนงานและโครงการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของ สพฐ. คือ แผนงานที่ 5.9 การสร้างกลไก “ยับยั้ง” และ สร้างความตระหนักรู้” เพื่อป้องกันการทุจริต ที่กล่าวถึงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลในสถานศึกษา ภายใต้กรอบแนวคิด “โรงเรียนสุจริต”

 

 

 

ในปีการศึกษา 2563 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้มีหนังสือแจ้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการขับเคลื่อนการนำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา (หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเนื้อหาประกอบด้วย 4 หน่วยการเรียนรู้ ได้แก่ การคิดแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม, ความละอายและความไม่ทนต่อการทุจริต, STRONG : จิตพอเพียงต่อต้านการทุจริต และ พลเมืองและความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อปลูกฝังและป้องกันการทุจริตให้แก่นักเรียนทุกระดับ

ทั้งนี้ เป็นการสร้างพลเมืองที่ซื่อสัตย์สุจริตให้แก่ประเทศชาติ ปัญหาคอร์รัปชันลดลง และดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันของประเทศไทย มีค่าคะแนนสูงขึ้น และเป็นไปตามแนวทางของแผนแม่บทบูรณาการป้องกัน ปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ซึ่งถือเป็นความร่วมมือร่วมกันของทุกคนที่จะเปลี่ยนประเทศไทยไปในทิศทางที่ดีขึ้นขอขอบคุณสำนักงาน ป.ป.ช. สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 ที่ได้ดำเนินการจัดเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลในสถานศึกษา และขอให้ทุกท่านได้ใช้เวทีแห่งนี้ในการแลกเปลี่ยนรู้ระหว่างกัน และสร้างเครือข่ายทางการศึกษาให้เกิดประโยชน์ต่อไป

ดร.จักรพงษ์  วงค์อ้าย ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารทั่วไป สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมการด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในสถานศึกษา จึงบูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) ดำเนินโครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาล ในสถานศึกษา (โครงการโรงเรียนสุจริต) ในการดำเนินกิจกรรมเพื่อปลูกฝังให้นักเรียน ครู ผู้บริหารและบุคคลาการทางการศึกษาเกิดคุณลักษณะ 5 ประการของโรงเรียนสุจริต ได้แก่ ทักษะกระบวนการคิด มีวินัย ซื่อสัตย์สุจริต อยู่อย่างพอเพียง และจิตสาธารณะ มาอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการตามแนวทางของปฏิญญาโรงเรียนสุจริตทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านการป้องกัน ด้านการปลูกฝัง และด้านการสร้างเครือข่าย ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย ได้แก่ กิจกรรมสร้างสำนึกพลเมือง (Project Citizen) กิจกรรมถอดบทเรียน (Best Practice) กิจกรรมบริษัท สร้างการดี การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (Integrity and Transparency Assessment: ITA) และการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา (Anti – Corruption Education) ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายตัวชี้วัดของแผนบูรณาการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

ในการนี้ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอผลการดำเนินกิจกรรมตามโครงการโรงเรียนสุจริต สู่สาธารณชน และคัดเลือกผลการดำเนินงานที่มีความโดดเด่น เป็นที่ประจักษ์ของโรงเรียนสุจริตต้นแบบและเครือข่ายโรงเรียนสุจริต เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานให้โรงเรียนและหน่วยงานอื่น ๆ นำไปปรับใช้ ขยายผลในการเสริมสร้างความสุจริตให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ทางโครงการจึงจัดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การนำเสนอผลงานและการประกวดแข่งขันกิจกรรมการเรียนรู้ ภายใต้โครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลในสถานศึกษา (โครงการโรงเรียนสุจริต) ระดับภูมิภาค จำนวน 5 ภูมิภาค โดยการประชุมในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นจุดที่ 5 ที่ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 26-28 กันยายน 2563 ณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีรายละเอียดกิจกรรม ดังนี้

 

ส่วนที่ 1 กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การนำเสนอผลงาน และการประกวดแข่งขันฯ กิจกรรมในโครงการโรงเรียนสุจริต ประกอบด้วย
1) กิจกรรมบริษัทสร้างการดี ประกอบด้วย นักเรียน จำนวน 4 คน ครู จำนวน 1 คน โดยคัดเลือกจากโรงเรียนสุจริต เป็นตัวแทนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ละ 1 โรงเรียน จำนวน 53 โรงเรียน โดยการประกวดแข่งขันแบ่งเป็นระดับประถมศึกษา จำนวน 200 คน และมัธยมศึกษา จำนวน 45 คน รวมจำนวน 245 คน
2) กิจกรรมถอดบทเรียน (Best Practice) ครูผู้สอน โดยคัดเลือกตัวแทนครูจากโรงเรียนสุจริต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ละ 1 โรงเรียน รวมจำนวน 49 โรงเรียน
3) กิจกรรมถอดบทเรียน (Best Practice) ผู้บริหาร โดยคัดเลือกตัวแทนผู้บริหาร จากโรงเรียนสุจริต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ละ 1 โรงเรียน รวมจำนวน 49 โรงเรียน
4) กิจกรรมถอดบทเรียน (Best Practice) ผู้รับผิดชอบโครงการโรงเรียนสุจริต โดยเป็นบุคลากรในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่รับผิดชอบโครงการโรงเรียนสุจริต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ละ 1 คน รวมจำนวน 25 โรงเรียน
5) กิจกรรมการนำเสนอผลงานนวัตกรรมการใช้หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา (1โรงเรียน /1 นวัตกรรม) โดยคัดเลือกตัวแทนครูที่ใช้หลักสูตรต้านทุจริตศึกษาในการจัดการเรียนการสอน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ละ 1 โรงเรียน รวมจำนวน 41 โรงเรียน

ส่วนที่ 2 การจัดนิทรรศการแสดงผลการดำเนินกิจกรรมตามโครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลในสถานศึกษา ประกอบด้วย นิทรรศการแสดงผลการดำเนินงาน กิจกรรมสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุจริต และภาพความสำเร็จของการประเมิน ITA Online ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา คัดเลือกจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่มีผลการประเมิน ITA คุณธรรม Online สูงสุดในแต่ละภูมิภาค สำหรับภูมิภาคนี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่มีผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาออนไลน์ (ITA Online) สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ 99.59 คะแนน คือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 สรุปการดำเนินงานครั้งนี้ ได้ดังนี้
1) มีการประกวดแข่งขันทั้งสิ้น 5 กิจกรรม จำนวน  6 ประเภท
2) มีการจัดนิทรรศการทั้งสิ้น จำนวน 53 นิทรรศการ
3) ผู้เข้าร่วมงาน  รวมทั้งสิ้น 502คน

ร่วมแสดงความคิดเห็น