เร่งช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบ จากโรคระบาดโควิด-19 เปิดสอน 6 สาขาอาชีพ รวม 130 คน เพิ่มรายได้ช่วงระหว่างรองาน หรือปรับเปลี่ยนเป็นอาชีพหลัก

วันที่ 29 กันยายน 2563 รายงานข่าวแจ้งว่า ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ น.ส.ลัดดา แซ่ลี้ ประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย จ.ส.อ.ปรชา จันทร์ศรี นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ รักษาการแทนแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ และ นายสุรัตน์ ปาละนันทน์ ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ พร้อมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดฯ และภาคเอกชน ร่วมกันประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัดฯ(กพร.ปจ.) ครั้งที่ 2/2563 เพื่อนำปัญหา อุปสรรค ของแรงงานในปัจจุบัน มาร่วมวิเคราะห์ ให้ความคิดเห็น แนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพแรงงานของจังหวัดเชียงใหม่

และหลังจากการประชุมเสร็จ นายสุรัตน์ ปาละนันทน์ ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ ได้พาคณะประชุมเดินเยี่ยมชมหลักสูตรฝึกฝนพัฒนาแรงงานในโครงการ ตามนโยบายกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในการจัดกิจกรรมช่วยเหลือแรงงาน เพิ่มทักษะฝีมือและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ บรรเทาความเดือดร้อนจากการตกงาน ว่างงาน ให้แก่ แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19

สำหรับหลักสูตรที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ ได้เปิดสอนมีทั้งหมด 6 สาขาอาชีพ รวม 130 คน ได้แก่ สาขาการทำอาหารจานด่วนเพื่อจำหน่าย จำนวน 18 คน เบเกอรี่และกาแฟ จำนวน 24 คน การทำขนมไทย จำนวน 23 คน การตัดเย็บเสื้อพื้นเมือง (เสื้อคลุม) จำนวน 23 คน การทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศภายในบ้าน และการพาณิชย์ขนาดเล็ก จำนวน 17 คน และการออกแบบและติดตั้งระบบควบคุม IoT เพื่อการปลูกพืชไร้ดิน จำนวน 25 คน หลังจากผ่านการฝึกอบรม มีเป้าหมายว่าแรงงานเหล่านี้ จะสามารถนำทักษะฝีมือที่ได้รับ ไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ช่วงระหว่างรองาน หรือปรับเปลี่ยนเป็นอาชีพหลัก อาชีพใหม่ สามารถดูแลตนเองและครอบครัวได้ต่อไป สำหรับการอบรมทั้งหมดไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
โดย นายสุรัตน์ ปาละนันทน์ ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ กล่าวว่า การฝึกอบรมแรงงานในครั้งนี้ ได้รับงบประมาณจากกระทรวงแรงงาน มารองรับในการฝึกโครงการ โดยสิ่งที่เราฝึกให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สิ่งที่ผู้ฝึกจะได้รับคือทักษะในวิชาชีพที่ตนเองสนใจ เพื่อเปลี่ยนอาชีพหรือเป็นอาชีพเสริม เพื่อหารายได้ได้ทันที อย่างเช่น ฝึกทำอาหาร 3 วัน วันละ 3 เมนู รวมแล้วผู้ฝึกจะได้ถึง 9 เมนู ซึ่งสามารถนำไปเปิดร้านอาหารเล็ก ๆ หรือรับออเดอร์ขายทางออนไลน์ได้เลย

นายสุรัตน์ กล่าวต่อว่า เรามีเป้าหมายและมีงบประมาณในปี 2564 จะขยายไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆของจังหวัดเชียงใหม่ เช่น การบริการ เสื้อผ้า โลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ซึ่งผู้ใดที่สนใจสามารถมาสมัครได้ที่สถาบัน หรือทางออนไลน์ผ่านทางเฟซบุ๊ก “Chiangmaiskill”

ด้าน น.ส.ธนวรรณ สวัสดิวรานุกร ครูฝึกฝีมือแรงงานเทคนิค เปิดเผยว่า หลักสูตรที่สอนจะเป็นอาหารจานด่วนเพื่อจำหน่าย เราจะเน้นย้ำการใช้วัตถุดิบ และอุปกรณ์ที่ไม่ต้องสิ้นเปลืองมาก สามารถหยิบของในครัวเรือนมาใช้ได้ ไม่ต้องลงทุนเพิ่มอะไรมาก ซึ่งจะสามารถนำไปต่อยอดเพิ่มรายได้ให้กับตนเองได้ในอนาคต ซึ่งถ้าจบการฝึกแล้วสามารถเปิดร้านอาหารได้เลย ถ้าผู้ฝึกพอมีต้นทุนบ้าง แต่จุดประสงค์ของเราจะเน้นที่การไม่ใช้ต้นทุนเยอะ สามารถทำกินเองที่บ้าน ทำแจกเพื่อน หรือขายตามออนไลน์ และพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ

น.ส.รังสิยา สืบพงษ์ อายุ 48 ปี อดีตพนักงานโรงแรม ผู้ที่มาฝึกอบรมในโครงการ กล่าวว่า ตนเองตกงานเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตซบเซา ตนเองจึงได้ย้ายมาอยู่กับสามีที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนมีนาคม 2563 และได้ลงทะเบียนอบรมเอาไว้ตั้งแต่เดือนมีนาคมในส่วนของเบเกอรี่และกาแฟ หลังจากที่ได้อบรมฝึกอาชีพแล้ว จะนำความรู้ซึ่งมาอบรม 3 วัน ได้ทั้งกาแฟและขนมเบเกอรี่ 7 เมนู ไปพัฒนาต่อยอด ทำให้เพื่อนๆลองชิม และลองทำการตลาดขายในออนไลน์ เพราะการขายในออนไลน์ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน ไม่มีต้นทุน ส่วนนี้ ค่อยขายจากเล็กๆและต่อยอดไปเรื่อยๆ

ร่วมแสดงความคิดเห็น