มท.1 สั่งเตรียมพร้อมป้องกันอุบัติภัย สร้างความปลอดภัย ปชช.ช่วงลอยกระทง ปี 2563

วันนี้ (21 ต.ค.63) พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เปิดเผยว่า ด้วยในวันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม 2563 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 เป็นวันลอยกระทงตามประเพณีไทย โดยในหลายพื้นที่ของจังหวัดและกรุงเทพมหานครจัดให้มีสถานที่ให้ประชาชนได้ลอยกระทงตามประเพณีในช่วงเวลาที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ และจะมีประชาชนนิยมเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ เป็นจำนวนมากเพื่อร่วมประเพณีฯ โดยเฉพาะสถานที่ริมน้ำ โป๊ะ ท่าเทียบเรือโดยสาร ฯลฯ ซึ่งมักจะเกิดอุบัติเหตุจากการจราจรทั้งทางบก ทางน้ำ ตลอดจนเหตุจากอัคคีภัยอยู่เป็นประจำ เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมการป้องกันอันตรายจากอุบัติภัยอันเกิดจากพลุ ประทัด ดอกไม้เพลิง และอุบัติเหตุจากการจราจรทั้งทางบก และทางน้ำที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว จึงได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดดำเนินการ 1)ให้นายทะเบียนท้องที่เข้มงวดกวดขันการพิจารณาออกใบอนุญาตหรือต่ออายุใบอนุญาตให้ทำ สั่งนำเข้า หรือค้าซึ่งดอกไม้เพลิง รวมทั้งตรวจสอบสถานที่เก็บ ทำ หรือค้าดอกไม้เพลิง ที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พรบ.) อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 โดยเคร่งครัด 2)ให้ผู้อำนวยการหรือเจ้าพนักงานตาม พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ตรวจตราอาคารสถานที่ ท่าเทียบเรือโดยสารที่มีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรง อาจก่อให้เกิดสาธารณภัยได้โดยง่าย พร้อมแจ้งหน่วยงานตามกฎหมายเข้าตรวจสอบ ซ่อมแซม ให้มั่นคงแข็งแรงตามอำนาจหน้าที่ 3) ให้หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และภาคเอกชนที่จะจัดงานวันลอยกระทง เตรียมการป้องกันและระมัดระวังเพื่อมิให้เกิดอุบัติภัย ด้วยการตรวจสอบสิ่งปลูกสร้างภายในบริเวณงานให้มีความมั่นคงแข็งแรง และจัดให้มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตทางน้ำในบริเวณใกล้เคียงสถานที่ลอยกระทง รวมทั้งดำเนินการตามพรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยเคร่งครัด และสำหรับพื้นที่ภาคใต้ ให้เข้มงวดในการดูแลสิ่งปลูกสร้างในบริเวณการจัดงานให้มีความมั่นคงแข็งแรง เนื่องจากมีโอกาสเกิดพายุฝนฟ้าคะนองและวาตภัย 4) ให้ผู้อำนวยการท้องถิ่นตาม พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที 5) เข้มงวดกวดขันปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนโดยดำเนินการกับผู้กระทำผิด 10 มาตรการเน้นหนักความปลอดภัยทางถนน ได้แก่ 1. ไม่สวมหมวกนิรภัย 2. สภาพยานพาหนะไม่พร้อมใช้งาน 3. เมาสุรา 4. ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 5. ไม่มีใบขับขี่ 6. ความเร็วเกินกําหนด 7. ฝ่าฝืนสัญญาณจราจร 8. ขับรถย้อนศร 9. แซงในที่คับขัน และ 10. ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะขับรถ อย่างเคร่งครัด

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ให้ทุกจังหวัดจัดชุดเจ้าหน้าที่และสั่งใช้สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) และอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) โดยประสานการปฏิบัติร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายทหาร และเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า เฝ้าระวังสถานที่ที่เสี่ยงเกิดอัคคีภัยและอุบัติภัยอื่น ๆ โดยเฉพาะอุบัติภัยทางน้ำ พร้อมจัดระเบียบและอำนวยความสะดวกด้านการจราจร การรักษาความสงบเรียบร้อยและเฝ้าระวังความปลอดภัยบริเวณที่ประชาชนหนาแน่น และเฝ้าระวังตรวจสอบความปลอดภัยท่าเทียบเรือโดยสาร สถานที่ริมน้ำสำหรับใช้ลอยกระทง และเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่เป็นจุดเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย รวมทั้งความปลอดภัยของเรือโดยสารให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด และจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วพร้อมอุปกรณ์ดับเพลิง อุปกรณ์กู้ภัย ไฟฟ้าส่องสว่าง หน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) เตรียมความพร้อมประจำ ณ สถานที่ที่มีผู้ไปร่วมลอยกระทง เพื่อให้ความช่วยเหลือได้ทันที นอกจากนี้ ให้เร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้เข้าใจกับประชาชนตลอดจนภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แสดงออกในการประพฤติปฏิบัติตามแบบวัฒนธรรมอันดีงามแห่งท้องถิ่น และร่วมกันลอยกระทงตามประเพณีไทย งดเว้นการกระทำที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน พร้อมทั้งเชิญชวนประชาชนจิตอาสาร่วมทำความสะอาด กำจัดขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล ตามสถานที่จัดงานและแหล่งน้ำ เพื่อช่วยรักษาความสะอาด ลดการเกิดสิ่งกีดขวางทางน้ำ และช่วยรักษาระบบนิเวศต่อไป

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังคงอยู่ในช่วงการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จึงได้เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามแนวทางประกาศกระทรวงวัฒนธรรม เรื่อง แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับเทศกาลประเพณีพิธีทางศาสนาและพิธีการต่าง ๆ กรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รวมทั้งมาตรการป้องกันโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดโดยเคร่งครัด เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรค อันจะเกิดความปลอดภัยกับพี่น้องประชาชน

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น