บุกรุกป่าสงวน เชียงใหม่พบปลูกข้าวโพด ใช้ ม.25 รื้อถอน คุมเข้มขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จังหวัดเชียงใหม่ ได้เผยแพร่ ประกาศสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 เชียงใหม่ เรื่องการรื้อถอน หรือทำประการอื่นใดแก่สิ่งที่เป็นอันตราย หรือสิ่งที่ทำให้เสื่อมสภาพในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยมีทั้งกรณีบุกรุกป่า
ในเขตป่าสงวน ป่าแม่แจ่มและป่าแม่ตื่น บริเวณเลยที่พักสงฆ์พระบาทปันวา ท้องที่บ้านแม่ลายดวงจันทร์ หมู่ 9 ต.นาคอเรือ อ.ฮอด และป่าขุนแม่ลาย

ทั้งนี้ในกรณีป่าขุนแม่ลายนั้นสืบเนื่องจากชุดเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่า ที่ ชม.20 (กิ่วลม) ได้ออกตรวจปราบปรามการกระทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ ไม่พบผู้กระทำความผิด ในพื้นที่ป่าซึ่งถูกบุกรุกกว่า 221 ไร่ (แปลงปลูกข้าวโพด) พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ในเขตป่าสงวน ป่าขุนแม่ลาย ท้องที่บ้านแม่ลายเหนือ หมู่ 5 ต.บ่อหลวง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ คิดมูลค่ารัฐเสียหายกว่า 15 ล้านบาทนั้น

สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 โดย ผอ.สำนักงานฯ ในฐานะเจ้าพนักงานผู้ควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติ ได้ดำเนินการแจ้งความดำเนินคดี และตามขั้นตอน พรบ.ป่าสงวน พศ. 2507 และ พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ที่ให้โอกาสโต้แย้ง อุทธรณ์คำสั่งภายในเวลาที่กำหนดหากไม่โต้แย้ง แสดงตน หรือหลักฐานแล้วแสดงว่ารับทราบข้อเท็จจริง ไม่ไม่ประสงค์โต้แย้ง แสดงสิทธิใด ๆ ซึ่งหลังจากประชาสัมพันธ์ ติดประกาศที่ศาลากลางแล้ว ก็จะมีคำสั่งรื้อถอน ตาม ม.25 แห่งพรบ.ป่าสงวนฯ ต่อไป

อย่างไรก็ตามปัญหาการบุกรุกผืนป่าหวงห้ามทั้ง เขตป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ ในเชียงใหม่นั้นพบว่ามีการกระทำความผิดต่อเนื่อง ในรูปแบบ การทำการเกษตร แปลงปลูกไร่ข้าวโพด มักพบในพื้นที่ อ.ฮอด, อ.แม่แจ่ม สำหรับกรณีการกระทำความผิด ฝ่าฝืน คำสั่งเจ้าพนักงาน ตามพรบ.ป่าสงวน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 แก้ไขเพื่มเติม ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาทหรือทั้งจำและปรับ และส่วนใหญ่ พื้นที่บุกรุก มักจะไม่พบผู้กระทำความผิด เจ้าหน้าที่ป่าไม้จึงต้องประสานท้องที่ สืบหาผู้กระทำผิด

 

เครือข่ายภาคประชาสังคม กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชน ภาคเหนือ (แม่แจ่ม ) เชียงใหม่ เปิดเผยว่า จริง ๆ แล้วการบุกรุกพื้นที่ แปลงใหญ่ขนาดนั้น หากจะไม่พบผู้กระทำผิดเลย คงสร้างความกังขาต่อสังคม ซึ่งการสืบเสาะหากลุ่มรับจ้างนายทุนรุกป่า ปลูกข้าวโพด หรือกลุ่มชาวบ้านที่ ทำอาชีพตามวิถีที่สืบทอดกันมา ไม่น่าจะเกินขีดความสามารถเจ้าหน้าที่ได้ แต่คงไม่อยากจะก่อปัญหามวลชนในพื้นที่มากกว่า เพราะตามขั้นตอน การติดตามตรวจสอบการบุกรุกป่า ส่วนหนึ่งจะมาจากต้นตอการร้องเรียน การรับแจ้งเหตุ จากหน่วยงานในพื้นที่ มีการเดินทางไปยังพื้นที่เกิดเหตุพร้อมผู้นำชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง

ปัจจุบัน ระบบการตรวจสอบ เจ้าหน้าที่จะจับค่าพิกัดดาวเทียมในบริเวณพื้นที่ ตรวจสอบในแผนที่แสดงการจำแนกการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ หากพบว่าเป็นพื้นที่บุกรุก ทางสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ก็จะมีคำสั่ง
แจ้งไปที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้แจ้ลูกบ้านรับทราบว่าที่เกิดเหตุเป็นไปในกรณีใด ถ้าไม่มีผู้ใดเข้าชี้แจงแสดงกรรมสิทธิ์ภายใน 30 วัน ก็จะทำตามขั้นตอนอื่น ๆ ซึ่งการดำเนินการนี้เป็นไปตาม พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการการปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 29,30 หลังจากออกประกาศให้เข้าชี้แจง ครบ 30 วัน ปรากฏไม่มีผู้มาแสดงตน ป่าไม้จะออกคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติ ให้ผู้บุกรุก ยึดถือ ครอบครอง อยู่ในเขตป่าสงวน หรืองดเว้นการกระทำใดในเขตป่าสงวน และรื้อถอน แก้ไข หรือทำด้วยประการใดแก่สิ่งที่เป็นอันตราย หรือสิ่งที่ทำให้เสื่อมสภาพเขตป่าสงวนภายใน 30 วัน เพื่อเป็นการป้องปราบไม่ให้มีการบุกรุกทำลายเพิ่ม

ทั้งนี้ผืนป่าทุกแห่งทั้งในเชียงใหม่และทั่วประเทศนั้น กรมป่าไม้เพียงหน่วยงานเดียว ไม่สามารถดูแลรักษาป่าสงวนแห่งชาติได้ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องที่ ช่วยสอดส่องดูแลแก้ปัญหาการบุกรุกเข้าครอบครองพื้นที่ป่า ร่วมกันฟื้นฟูป่าไม้ให้คงอยู่เป็นไปตามระบบที่คนกับป่า อยู่ร่วม พึ่งพากันได้ ไม่ทำลาย บุกรุกเพื่อประโยชน์ส่วนตัว

“ภาคเหนือมีพื้นที่ป่า กว่า 38 ล้านไร่ หรือร้อยละ 63 ของผืนป่าทั่วประเทศ 102,484,072.71ไร่ แม่ฮ่องสอน ติดอันดับ 1 มีพื้นที่ป่า 86.5% ของพื้นที่จังหวัด 6,901,284 ไร่ ส่วนเชียงใหม่ อันดับ4 มีพื้นที่ป่ากว่า 9,669,932 ไร่ หรือ 69.9%”

ร่วมแสดงความคิดเห็น