โรคหัวร้อน เบาหวาน ลมชัก ห้ามทำใบขับขี่เริ่ม ก.พ. ปีหน้า

นายยงยุทธ นาคแดง รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่าตามที่ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกฎ
กระทรวงคมนาคม เรื่องการขอและการออกใบอนุญาตขับรถ และการต่ออายุใบอนุญาตขับรถ พ.ศ. 2563 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับภายใน 120 วัน หรือภายในประมาณวันที่ 20 ก.พ. 64 นั้น

กฎกระทรวงนี้มีหลักสำคัญ 2 ข้อ คือ 1. การออกใบรับรองแพทย์ประกอบการขอรับใบอนุญาตขับรถหรือขอใบขับขี่ ขบ. กำลังหารือแพทยสภาเพื่อจัดทำรายละเอียดให้สอดรับกับกฎกระทรวงเพื่อกำหนดให้ใบรับรองแพทย์ต้องแสดงว่าไม่มีโรคประจำตัวหรือสภาวะของโรคที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเห็นว่าอาจเป็นอันตรายขณะขับรถหรือมีอาการผิดปกติทางจิตหรือมีโรคที่ไม่เหมาะสมกับการขับรถ “เดิมกำหนด 5 โรค ได้แก่ 1. โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่น่ารังเกียจแก่สังคม 2. โรควัณโรคในระยะแพร่กระจายเชื้อ 3. โรคเรื้อน 4. โรคพิษสุราเรื้อรัง และ 5. โรคติดยาเสพติดให้โทษ”

ล่าสุดขนส่งกำลังพิจารณาเพิ่มโรคต้องห้าม อาทิ โรคลมชัก, โรคเบาหวาน, โรคความดัน, โรคอารมณ์สองขั้วหรือพวกหัวร้อน คุมอารมณ์ไม่อยู่, ออทิสติก หรือตัวเตี้ยผิดปกติ 90 ซม. แพทย์ที่ต้องออกใบรับรองแพทย์ต้องเป็นผู้ประเมินสภาพร่างกายผู้ขอใบรับรองแพทย์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้ ให้ทันภายใน 120 วัน หรือ ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป ผู้ที่ต้องการขอรับและขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถทุกชนิดทุกประเภท ต้องมีใบรับรองแพทย์ยื่นประกอบการดำเนินการด้วย

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จะประเมินความพร้อมด้านร่างกายของผู้ขอต่อใบขับขี่ถ้าสังเกตหรือประเมินแล้วพบว่ามีสภาวะด้าน
ร่างกายไม่พร้อมมีความเสี่ยงต่ออันตรายในการขับรถจะนำบุคคลนั้นไปทดสอบการขับรถเพิ่มเติม จากเดิมการขอต่อใบขับขี่ต้องทดสอบสมรรถภาพทางด้านร่างกาย เช่น ตาบอดสี และเข้าอบรมการขับรถจะต่อใบขับขี่ได้ทันที
ส่วนเรื่องการคุมเข้มผู้ประสงค์ขับรถ จยย. ที่มีกำลังสูงหรือบิ๊กไบค์ เพื่อออกใบขับขี่รถ จยย. ขนาดใหญ่ที่มีกำลังสูง
เครื่องยนต์ 400 ซีซีขึ้นไป นั้นความคืบหน้าการกำหนดหลักเกณฑ์อบรมและทดสอบเพิ่มเติมสำหรับผู้ขับขี่รถ จยย.บิ๊กไบค์ อยู่ระหว่างการเตรียมพร้อม เพื่อรองรับเมื่อกฎกระทรวงมีผลใช้บังคับ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องใช้ทักษะการขับรถสูงกว่าปกติ

ร่วมแสดงความคิดเห็น