สสจ.เชียงใหม่ เตือนเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส ใช้ไม่ระวังเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

นพ.จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงข้อมูลสถานการณ์การใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สของจังหวัดเชียงใหม่ มีรายงานพบผู้ป่วยขณะอาบน้ำด้วยเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส จำนวน 3 ราย เมื่อปี 2538 โดยสาเหตุมาจากเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส เผาไหม้ออกซิเจนเพื่อทำความร้อน ในขณะเดียวกันก็สร้างคาร์บอนได ออกไซด์ และคาร์บอนมอนอกไซด์ขึ้น เมื่อสูดดมเข้าจะทำให้เม็ดเลือดแดง จับออกซิเจนได้น้อยลง ร่างกายขาดออกซิเจนทำให้มีอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ มึนงง หน้ามืด หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ซึม หมดสติ และเสียชีวิตได้ กลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด คือ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเลือดจาง หอบหืด ถุงลมโป่งพอง โรคความดันโลหิตสูง หากได้รับแก๊สพิษมีโอกาสเสียชีวิตสูง ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการเฝ้าระวังมาอย่างต่อเนื่อง และได้ประสานงานกับผู้ประกอบการสถานที่พักในจังหวัดเชียงใหม่ ให้ระมัดระวังในการติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส โดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยดังนี้

1. เลือกเครื่องทำน้ำอุ่นที่ได้มาตรฐาน และบำรุงรักษาเครื่องทำน้ำอุ่นให้ถูกต้อง ปลอดภัย ตรวจสอบ
คุณภาพตามที่กำหนดในคู่มือใช้งานสม่ำเสมอ
2. ติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สในห้องน้ำ ที่มีพื้นที่กว้างเพียงพอ มีช่องลมหรือช่องระบายอากาศ
ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่ห้อง หรือมีพัดลมระบายอากาศ ประตูมีกลอนหรือลักษณะอื่นใด
ที่สามารถเปิดจากข้างนอกได้
3. การติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส ควรติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นไว้นอกห้องน้ำ ถังแก๊สต้องตั้งบน
พื้นราบและมีอากาศถ่ายเท
4. ควรแจ้งผู้เข้าพักให้ทราบอันตรายและวิธีการใช้ โดยติดป้ายเตือนไว้อย่างชัดเจน ให้เปิดพัดลม
ดูดอากาศทุกครั้งที่ใช้น้ำอุ่นทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ และติดตั้งสวิตซ์พัดลมให้พ่วงกับสวิตซ์
ไฟฟ้าแสงสว่าง เพื่อป้องกันการลืมเปิดพัดลมดูดอากาศ
5. ดูแลตรวจสอบระบบระบายอากาศในสถานที่พัก โดยเฉพาะในห้องน้ำ

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักอาศัยในจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ ควรมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดขณะอาบน้ำ หากพัดลมดูดอากาศไม่ทำงาน ควรหลีกเลี่ยงการใช้งานเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส และควรมีคนอยู่ด้วยในบริเวณนั้น เพื่อให้การช่วยเหลือได้ทันที กรณีอาบน้ำติดต่อกันหลายคน ให้เปิดพัดลมดูดอากาศและเปิดประตูห้องน้ำทิ้งไว้อย่างน้อย 10 นาที ถ้าไม่มีพัดลมดูดอากาศ ควรเปิดประตูห้องน้ำทิ้งไว้อย่างน้อย 15 นาที และให้สังเกตอาการที่อาจเกิดขึ้นจากการได้รับแก๊สระหว่างใช้ห้องน้ำ เช่น วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด และหายใจลำบาก ควรรีบออกจากห้องน้ำหรือให้การช่วยเหลือทันที หรือหากได้กลิ่นแก๊สผิดปกติ ควรรีบเปิดประตู ปิดเครื่องทำน้ำอุ่น ออกจากห้องน้ำและแจ้งผู้ดูแลทันที ทั้งนี้หากพบผู้ป่วยหมดสติในห้องน้ำ ควรรีบให้การช่วยเหลือโดยนำผู้ป่วยไปยังพื้นที่โล่ง ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก และโทรสายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง

ร่วมแสดงความคิดเห็น