กล้วยหอมทอง อ.แม่แตง นำร่องพืชเศรษฐกิจ “ตลาดนำการเกษตร” มุ่งส่งออก

สำนักงานเกษตร อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ แจ้งว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เปิดเผยว่า ภาคเกษตรมีความเชื่อมโยงการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ที่ผ่านมา ได้ยึดหลัก “ตลาดนำการเกษตร “ควบคู่การใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่หลากหลาย ก้าวทันยุคสมัย

ขณะนี้ได้มีการศึกษาและเริ่มนำร่องแล้ว ในพืชเศรษฐกิจ กล้วยหอมทอง เป็นชนิดแรก กำหนดพื้นที่เป้าหมายจำนวน
300 ไร่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีศักยภาพทางภูมิศาสตร์ ตามแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม เบื้องต้นมีการหารือร่วมกับกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรที่ปลูกกล้วยหอมทอง เกษตรกรแปลงใหญ่ ยัง สมาร์ท ฟาร์มเม่อร์ ผู้ประกอบการ และเกษตรกรรายอื่น ๆ ในพื้นที่ที่สนใจปรับเปลี่ยนการผลิต สู่กล้วยหอมทองร่วมกัน พบว่า พื้นที่ดังกล่าว สามารถให้ผลผลิตที่ได้คุณภาพมาตรฐาน โดยปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 64 ราย พื้นที่รวม 167 ไร่ กลุ่มเกษตรกรมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 21,077 บาท/ไร่ (เริ่มให้ผลผลิตในเดือนที่ 9 – 11 และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 2 ปี) มีการจำหน่ายตามเกรดต่างๆ ของผลผลิต โดยเกรด เอ ราคาที่เกษตรกรขายได้จะอยู่ที่ 14 บาท/กก. ให้ผลผลิต เฉลี่ยประมาณ 4,160 กก./ไร่ สร้างรายได้ 54,080 บาท/ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) 33,000 บาท/ไร่

นอกจากการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแล้ว สินค้าเกษตรต้องมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน
และปลอดภัย สิ่งสำคัญที่ถือเป็นหัวใจหลักของการผลิต คือการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมให้เหมาะสม ผลักดันให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตไปสู่พืชเศรษฐกิจที่เหมาะสม กับพื้นที่ตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก ที่ตลาดมีความต้องการสูง ดำเนินการควบคู่ไปกับการถ่ายทอดองค์ความรู้ ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อยืดอายุของสินค้าเกษตร สร้างโอกาสในการส่งออกไปสู่ตลาดโลก เกิดการจ้างแรงงานภาคเกษตรในพื้นที่เพิ่มขึ้นด้วย ปัจจุบัน มีสินค้าเกษตรหลายชนิดที่ผลผลิตไม่เพียงพอ และเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ อาทิ กล้วยหอมทอง โกโก้ กระเจี๊ยบเขียว ถั่วลันเตา ข้าวโพดฝักอ่อน มะปราง มะยงชิด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เตรียมวางแนวทางเพื่อดำเนินโครงการ เปลี่ยน “ปลูก” ให้ “ใช่” เพื่อให้เกษตรกรหันมาผลิตสินค้าเกษตร ที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจที่มีตลาดรองรับแน่นอน ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ และยังให้ผลตอบแทนที่สูง คุ้มค่าแก่เกษตรกร

ด้าน นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ผลผลิตกล้วยหอมทองที่ได้ นอกจากจำหน่ายในประเทศแล้ว ด้วยคุณลักษณะที่โดดเด่น ทั้งรสชาติ และคุณประโยชน์ จึงทำให้กล้วยหอมทองไทย เป็นที่ต้องการของตลาดส่งออกต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น ล่าสุดได้ประสานความร่วมมือกับบริษัทธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ขนาดใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น(เบะเซ่ ซุปเปอร์มาร์เก็ต) ที่มีความต้องการกล้วยหอมทอง เฉลี่ย 1,125 ตัน/เดือน หรือ 13,500 ตัน/ปี และ ยังร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ส่งเสริมองค์ความรู้ในการเพาะปลูก ตั้งแต่การเลือกพันธุ์ เทคนิคการปลูก การเก็บเกี่ยว โดยนำเทคโนโลยีน้ำนาโน ที่มีการพัฒนาในประเทศญี่ปุ่น เพื่อรักษาสภาพและยืดอายุของสินค้าเกษตรในการส่งออกอีกด้วย เบื้องต้นคาดว่าจะมีการลงนามความร่วมมือร่วมกัน ระหว่างกลุ่มเกษตรกรเบะเซ่ ซุปเปอร์มาร์เก็ต และ บริษัทประกันภัย ในช่วงต้นปี 2564 โดยกระทรวงเกษตรฯ จะเป็นผู้ดำเนินการหลัก

หลังจากนั้น จะขยายผลการดำเนินโครงการไปยังกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ กลุ่มวิสาหกิจที่มีศักยภาพในการผลิตพืช
เศรษฐกิจชนิดต่างๆ ที่เหมาะสมกับพื้นที่ในระยะต่อไป ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะยังคงขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตร อย่างต่อเนื่อง และแก้ไขปัญหาเกษตรกรอย่างจริงจัง ควบคู่กับการทำเกษตรสมัยใหม่ ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และการใช้ประโยชน์จากข้อมูล เพื่อให้เกษตรกรมีการวางแผน และเลือกเพาะปลูกพืชได้อย่างเหมาะสม ได้ผลตอบแทนสูง สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ผ่านตลาดออนไลน์ เพื่อให้สอดรับยุควิถีใหม่ เสริมสร้างศักยภาพ และความเข้มแข็งให้ภาคเกษตร ตลอดจนภาคเศรษฐกิจอื่นๆ อย่างมั่นคง และมีเสถียรภาพร่วมกัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น