กรมอนามัย เผย ‘โควิด 19’เพิ่มขยะพลาสติก 6,300 ตันต่อวัน ชวนคนไทยร่วมกันลดใช้

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผย ในช่วงสถานการณ์โรคโควิด 19 จากข้อมูลสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยแสดงให้เห็นว่าเกิดขยะพลาสติก ประเภท ถุงพลาสติก กล่องพลาสติก รวมทั้งพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพิ่มขึ้นเป็น 6,300 ตันต่อวัน ชวนคนไทยช่วยกันลดใช้เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
​นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า วันที่ 4 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันสิ่งแวดล้อมไทย” โดยในปีนี้ รณรงค์ภายใต้แนวคิด “ชีวิตวิถีใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” เนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด 19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชน ทั้งด้านอาหาร และการรักษาสุขอนามัย เกิดเป็นชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ขณะเดียวกันได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมา จากข้อมูลสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย พบว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ทำให้เกิดปัญหาขยะหลายประเภทเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มขยะจากการส่งอาหารออนไลน์ (Food Delivery) เนื่องจากผู้บริโภคต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น และลดการสัมผัสเชื้อโรคจากนอกบ้าน ส่งผลให้ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นทุกเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 60 ขยะจากการ สั่งอาหารเดลิเวอรี่ ประกอบด้วย ถุงพลาสติก กล่องพลาสติก รวมทั้งพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ไม่ว่าจะเป็น ช้อน ส้อม ไม้จิ้ม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15 หรือเพิ่มขึ้นเป็น 6,300 ตันต่อวัน ซึ่งในช่วงสถานการณ์ปกติประเทศไทยผลิตขยะพลาสติก 2 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 1,500 ตันต่อวัน

​“ทั้งนี้ กรมอนามัยขอความร่วมมือประชาชนและผู้ประกอบการ รณรงค์ร่วมกันลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกหรือภาชนะที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต เช่น ปัญหาขยะตกค้างในชุมชนทำให้เกิดเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์และแมลงพาหะนำโรค ที่ก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหาร การเผาขยะกลางแจ้งอาจทำให้เกิดควันและสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานภาครัฐ เฝ้าระวังด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยเฉพาะปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจากการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ รวมทั้งรณรงค์สื่อสารเรื่องการลดใช้พลาสติก และใช้หลัก 3 Rs คือ R: Reduce ลดการใช้ ใช้น้อยเท่าที่จำเป็น R: Reuse ใช้ซ้ำ และใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น และ R: Recycle แปรรูป มาใช้ใหม่ ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและสถานประกอบการ เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ” รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

 

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น