Covid-19 สายพันธุ์จีเอช ที่ต้นทางมาจากอินเดีย เข้ามายะไข่ และท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา

สธ.ชี้โควิด-19 สมุทรสาคร สายพันธุ์ GH จากเมียนมา-อินเดีย ยังไม่กลายพันธุ์ในไทย

วันนี้ (23 ธันวาคม) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงถึงผลการถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่พบใน จ.สมุทรสาคร ที่ได้จากการตรวจพบเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา ว่า ในการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ไม่เพียงแต่ตรวจเพื่อให้ทราบว่าผู้ใดมีผลเป็นบวกหรือลบ แต่จะต้องตรวจเพื่อให้ทราบถึงรหัสพันธุกรรมของเชื้อนั้นๆ ด้วย หรือเป็นสายพันธุ์ใด เหมือนกับที่ระบาดในที่อื่นหรือไม่ หรือมีกลายพันธุ์หรือไม่

ขอบคุณภาพ :https://www.matichon.co.th/covid19/thai-covid19/news_2497139

“ทั้งนี้ สายพันธุ์ที่เราพบในช่วงแรก คือ สายพันธุ์ S ที่พบมาจากประเทศจีน แต่ช่วงหลังมานี้พบเป็นสายพันธุ์ G ที่ระบาดในทั่วโลก มีคำถามว่าเชื้อที่ระบาดใน จ.สมุทรสาคร มีความเกี่ยวกับประเทศเมียนมาแค่ไหน หรือมาจากเรือประมงที่มาจากอินโดนีเซียหรือไม่ คำตอบคือ จากที่เกิดเหตุที่ อ.แม่สอด จ.ตาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย การระบาดที่ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ได้เอามาตรวจทั้งหมดทั้งคนไทยและต่างชาติ เทียบข้อมูลภาพรวมของโลก พบว่า กลุ่มที่พบที่ใน จ.สมุทรสาคร เป็นสายพันธุ์ GH ที่มาจาก จ.ท่าขี้เหล็ก 1G1 และ อ.แม่สอด โดยมีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย ที่เริ่มระบาดมาสู่เมียนมา ในรัฐยะไข่ และกระจายไปทั่วเมียนมา และมีบางส่วนลักลอบเข้ามาในไทย” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ซึ่งก่อนหน้านี้ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราช ชี้ โควิด 19 สายพันธุ์เมียนมา อันตราย แพร่เร็วกว่าที่ระบาดในประเทศจีน คาดไทยได้ฉีดวัคซีนเร็วสุดพฤษภาคม 2564

ศ. ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภาคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้แถลงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก ว่าขณะนี้ยังคงเป็นขาขึ้น โดยทุก 3 วัน จะมีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้น 2 ล้านคน และสายพันธุ์ที่พบในเมียนมา จะเป็นสายพันธุ์ G ซึ่งเป็นคนละสายพันธุ์ที่ระบาดที่อู่ฮั่น ซึ่งเป็นสายพันธุ์ D โดยสายพันธุ์ G ในเมียนมา มีหลักฐานระบุชัดว่าสามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็ว แต่ยังไม่สามารถระบุว่ามีความรุนแรงของโรคที่จะทำให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูง แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นและพบว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนระบบสาธารณสุขไม่สามารถรองรับได้

อย่างไรก็ตาม พบว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เกิดในตอนนี้ยังเกิดในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจากกลุ่มบุคคลที่เดินทางกลับจากเมียนมา ยังไม่ถือว่าเป็นการระบาดรอบที่ 2 ขอให้ประชาชนเข้มงวดในมาตรการป้องกันควบคุมโรค เนื่องจากยังไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจนว่าผู้เดินทางกลับจากเมียนมามีกี่ราย และเดินทางไปยังจุดใดบ้าง

ขณะนี้หลายโรงพยาบาลต่าง ๆ เตรียมพร้อมเครื่องมือและบุคลากรเพื่อรองรับหากเกิดการแพร่ระบาด ส่วนเรื่องวัคซีนที่ผลิตอยู่ หลายบริษัทได้ถูกจองวัคซีนในล็อตแรกหมดแล้ว และในบางประเทศมีการจองวัคซีนที่เกินกว่าจำนวนประชาชน ซึ่งทางประเทศไทยได้มีร่วมลงนามกับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งยืนยันได้ว่าประเทศไทยจะได้รับวัคซีนอย่างแน่นอน

โดยมี 3 ปัจจัยที่น่าห่วงขณะนี้ ได้แก่

1.อากาศเย็นที่ทำให้คนอยู่ในอาคารซึ่งเป็นพื้นที่ปิดและไม่สวมหน้ากากมากขึ้น
2. ชายแดนที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงมากขึ้น ทั้งเมียนมา มาเลเซีย โดยเฉพาะคนที่ลักลอบเข้ามาเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดการระบาดได้
3. การชุมนุมต่าง ๆ แต่อยากให้เข้าใจและย้ำเตือน เพราะไม่มีใครชนะหากเกิดการระบาดขึ้น

ทั้งนี้อยากขอให้หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการระบาด แม้ขณะนี้ทางโรงพยาบาลได้เตรียมรับมือแล้วแต่ก็หวังจะไม่เกิดการระบาดรุนแรง ส่วนความคืบหน้าการผลิตวัคซีน ล่าสุดบริษัทต่าง ๆ ที่ผลิตใน 2 ล็อตแรกถูกจองหมดแล้ว

สำหรับประเทศไทยที่มีข้อตกลงกับแอสตร้าเซนเนก้า หากไทยได้รับข้อมูลองค์ความรู้มาเมื่อไหร่ก็จะต้องผ่านกระบวนการผลิตอีก 4 เดือน และต้องผ่านการตรวจสอบจาก อย. อีก 3 รอบ ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน คาดว่าจะได้ฉีดครั้งแรกหลังเดือนพฤษภาคม 2564
ข้อมูล :สปริงนิวส์

ขอบคุณภาพ : https://www.businesstoday.co/covid-19

ร่วมแสดงความคิดเห็น