จ.ตาก ขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ระดับจังหวัด

วันที่ 6 ม.ค. 64 เวลา 09:30 น. ที่อาคารหอประชุมศาลากลางจังหวัดตาก นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารงานการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ระดับจังหวัด โดยมี นายอดิศักดิ์ วงษ์พานิชผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน รักษาราชการแทน พัฒนาการจังหวัดตาก หัวหน้าส่วนราชการ พัฒนาการอำเภอ และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

ตามที่ คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 เห็นชอบและอนุมัติแผนงาน/โครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในรอบที่ 1 (ครั้งที่ 1) ให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้การน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” พัฒนาพื้นที่เรียนรู้ต้นแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระดับตำบลและระดับครัวเรือน และฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ผ่านการสร้างงาน สร้างรายได้ แก่เกษตรกร แรงงาน และบัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงาน อพยพ กลับท้องถิ่นและชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในช่วงวิกฤตการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

โดยในพื้นที่ของจังหวัดตาก มีกลุ่มเป้หมายอยู่ในพื้นที่ 3 อำเภอ ดังนี้ อำเภออุ้มผาง ตำบลโมโกร จำนวน 26 ครัวเรือน แยกเป็นพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (พรพช.) จำนวน 1 ครัวเรือน และพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (พคพช.) จำนวน 25 ครัวเรือน , อำเภอแม่ระมาด ตำบลพระธาตุ จำนวน 18 ครัวเรือน แยกเป็นพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (พรพช.) จำนวน 1 ครัวเรือน และพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (พคพช.) จำนวน 17 ครัวเรือน , อำเภอบ้านตาก ตำบลทุ่งกะเชาะ จำนวน 1 ครัวเรือน เป็นพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (พคพช.)

ทั้งนี้ จังหวัดตากได้รับการจัดสรงบประมาณตามโครงการฯ ให้ดำเนินตามกิจกรรม ดังนี้ การฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบโคก หนอง นา โมเดล , สร้างพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (CLM) ระดับตำบล และพัฒนาพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (HLM) ระดับครัวเรือน , สร้างงานสร้างรายได้รายเดือน ให้แก่ เกษตรกร บัณฑิตจบใหม่กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน , กระตุ้นการบริโภคภาครัวเรือนและเอกชนผ่านกิจกรรมการพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบฯ ระดับครัวเรือน และบูรณาการร่วมพัฒนาพื้นที่ระดับตำบลต่อยอดทางธุรกิจ ร่วมกับภาคเอกชนในพื้นที่ ซึ่งสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดตาก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องนี้ เพื่อให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และก่อเกิดประโยชน์แก่เป้าหมายให้มากที่สุด

ร่วมแสดงความคิดเห็น