“ขนาดบันได” ออกแบบอย่างไรให้ปลอดภัยต่อการใช้งาน

“ขนาดบันได” ออกแบบอย่างไรให้ปลอดภัยต่อการใช้งาน

บันได เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบหนึ่งภายในบ้านที่ทำหน้าที่คอยเชื่อมต่อทางเดินระหว่างพื้นที่แต่ละชั้น ด้วยการเดินขึ้นหรือลงเปรียบเสมือนการออกกำลังกายง่ายๆอีกอย่างหนึ่งภายในบ้าน แถมยังช่วยเผาผลาญไขมันได้เล็กน้อยไม่ต้องเสียเวลาไปดูดไขมันกันเลย ดังนั้นการออกแบบบันได ต้องมีการพิจารณาและคิดอย่างรอบคอบ ทั้งในเรื่องของโครงสร้าง รูปแบบของบนได ความสวยงาม รวมไปถึงขนาดบันไดที่เหมาะสมต่อผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ที่อยู่อาศัยเมื่อใช้งาน เนื่องจากหลายครั้งมักมีการออกแบบบันไดอย่างมักง่ายทำใ้เกิดอุบัติเหตุได้บ่อยๆ ดังนั้นบทความนี้จะพาไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับบันไดให้มากขึ้น

กฎหมายเกี่ยวกับการออกแบบบันได

          ในการออกแบบบันไดนั้นได้มีกฎหมายออกมาเป็นข้อกำหนดอย่างชัดเจน โดยกล่าวว่า กฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ข้อที่ 23 ซึ่งกำหนดบันไดสำหรับอาคารอยู่อาศัยดังนี้

“บันไดของอาคารอาศัยถ้ามี ต้องมีอย่างน้อยหนึ่งบันไดที่มีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร ช่วงหนึ่งต้องสูงไม่เกิน 3 เมตร ลูกตั้งสูงไม่เกิน 20 เซนติเมตร ลูกนอนเมื่อหักส่วนที่ขั้นบันไดเหลื่อมกันออกแล้ว เหลือความกว้างไม่น้อยกว่า 22 เซนติเมตร และต้องมีพื้นที่หน้าบันไดมีความกว้างและยาวไม่น้อยกว่าความกว้างของบันได”

“ในกรณีที่บันไดมีความสูงเกิน 3 เมตร ต้องมีชานพักให้กับบันไดในทุกช่วง 3 เมตร หรือน้อยกว่านั้น และชานพักต้องมีความกว้าง และยาวไม่น้อยกว่าความกว้างของบันได ระยะดิ่งจากขั้นบันไดหรือชานพักบันไดถึงส่วนต่ำสุดของอาคารที่อยูเหนือขึ้นไปต้องสูงไม่น้อยกว่า 1.90 เมตร”

ซึ่งระยะทั้งหมดนี้ถูกกำหนดเป็นมาตรฐานเพื่อสร้างความปลอดภัยแก่ผู้อยู่อาศัย เพื่อจะได้เดินขึ้นลงบันไดอย่างปลอดภัย

ขนาดของลูกตั้ง ลูกนอนบันไดที่เหมาะสม

ถึงแม้จะมีกฎหมายกำหนดขนาดตามาตรฐานแล้วก็ตาม แต่อาจจะไม่ตอบโจทย์ทางการยศาสตร์ของมนุษย์ได้มากนัก ดังนั้นขนาดที่เหมาะสมที่สุดที่บรรดาสถาปนิกนิยมใช้กันก็ คือ ขนาดของลูกตั้ง + ขนาดของลูกนอน ต้องมีค่าเท่ากับ 45เซนติเมตร

โดยกำหนดให้ลูกตั้งมีขนาดในช่วง 15-18 เซนติเมตร ส่วนลูกนอนอยู่ในช่วง 27-30 เซนติเมตร ตัวอย่าง กรณีลูกตั้งบันไดมีความสูง 15 เซนติเมตร ลูกนอนจะต้องมีความกว้าง 30 เซนติเมตร หรือกรณีลูกตั้งมีความสูง 18 เซนติเมตร ลูกนอนจะต้องมีความกว้าง 27 เซนติเมตร

ส่วนความกว้างของบันได ตามกฎหมายกำหนดไว้ให้มีความกว้างไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร หากพื้นที่บ้านมีอย่างจำกัดสามารถออกแบบในระยะดังกล่าวได้ แต่หากต้องการให้เดินสบายและสวนทางกันได้อย่างสะดวก บันไดบ้านควรมีความกว้างประมาณ 1 – 1.5 เมตร

องค์ประกอบอื่นๆที่ต้องคำนึงถึงเมื่อทำการออกแบบบันได

ราวกันตกและราวจับบันไดเอง เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของการออกแบบันได หากมีการออกแบบบันไดโดยได้ขนาดบันไดที่เหมาะสมแล้ว แต่ขาดอุปกรณ์ป้องกันการตกก็อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้นการติดตั้งราวกันตก หรือ ราวจับบันได ความมีความสูงที่ประมาณ 80-90 เซนติเมตร ซึ่งเป็นความสูงในระดับที่มือสามารถจับได้อย่างพอเหมาะขณะยืน วัสดุที่นิยมนำมาทำเป็นราวกันตกและราวจับบันไดนั้นมีมากมายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นไม้ เช่น ไม้มะค่า ไม้สัก ไม้ตะแบก ไม้แดง เป็นต้น และยังมีราวกันตกที่ทำจากสแตนเลส ที่ช่วยให้บ้านดูหรูหรา มีความทนทานไม่เกิดสนิมได้ง่ายๆ หรือจะเป็นกระจกที่ทำให้บ้านดูโปร่ง และกว้างขึ้น เพราะไม่มีอะไรมาบดบังสายตาได้ แต่กระจกที่จะนำมาทำเป็นราวกันตกนั้นต้องเป็นกระจกนิรภัยหรือกระจกเทมเปอร์ เพื่อความปลอดภัยหากเกกิดอุบัติเหตุ และมีความแข็งแรงมากกว่ากระจกทั่วไป

ชนิดของบันไดที่นิยมนำมาใช้กัน

  1. บันได้ไม้จริง วัสดุยอดนิยมที่นำมาทำบันไดตั้งแต่สมัยโบราณกันจนถึงปัจจุบันก็ยังใช้กันอยู่ ซึ่งบันได้ไมจริงนั้นทำมาจากท่อนไม้ที่ถูกแปรรูปมาเป็นแผ่น ผ่านกระบวนการต่างๆ แล้วนำมาขัดผิวเอาเสี้ยนไม้ออก และทาสีและเคลือบเงาจนสวยงาม
  2. บันไดไม้ยางพาราประสาน โดยบันไดชนิดนี้ผลิตมาจากไม้ยางพาราที่ขนาดประมาณ 4-5 เซนติเมตร ซึ่งถูกนำมาประกอบกันด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ให้ไม้ยางพาราพวกนี้ออกมาเป็นชิ้นเดียวกัน แล้วนำสีย้อมไม้มาเคลือบ
  3. บันไดวีว่าบอร์ดปิดผิวด้วยลามิเนต วีว่าบอร์ดนั้นผลิตจากผงไม้ผสมซีเมนต์ ขึ้นรูปด้วยเครื่องอัดความหนาแน่นสูง และปิดผิวด้วยลามิเนต ซึ่งข้อดีของลามิเนตตนั่นก็คือมีสีและลายให้เลือกหลากหลายมาก เรียกได้ว่าไม่ว่าการออกแบบจะสไตล์ไหน ลามิเนตก็มีลายรองรับหมด แต่ชนิดลามิเนตที่ควรเลือกใช้คือลามิเนตแบบ HPL หรือ High Pressure Laminate เนื่องจากสามารถรองรับแรงกระแทกและน้ำหนักจาการขึ้นลงได้มาก
  4. บันได้ไม้จริงปิดผิวด้วยเอ็นจิเนียร์วู้ด ซึ่งบันไดชนิดนี้ผลิตจากไม้เนื้อแขงที่ผ่านกระบวนการอบและขึ้น แล้วนำมาประกอบตามขนาดของบันไดที่ถูกออกแบบไว้ หลังจากนั้นจะปิดทับหน้าด้วยไม้จริงที่มีความหนาเพียง3-5มิลลิเมตร ซึ่งประเภทของไม้จริงที่นิยมนำมาปิดทับหน้าก็มี ไม้สัก ไม้โอ๊ค ไม้แดวเป็นต้น
  5. บันไดลามิเนตสำเร็จรูป ผลิตจากเศษผงไม้ผสมกาวกันชื้นแล้วขึ้นรูปด้วยเครื่องอัดแรงดันสูง แล้วปิดทับหน้าด้วยไม้ลามิเนตแบบ HPL หรือ High Pressure Laminate

ดังนั้นจากที่กล่าวมา การออกแบบบันไดนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ทั้งการออกแบบที่ต้องเป็นไปตามข้อกฎหมายที่กำหนดไว้ รวมไปถึงการออกแบบให้เหมาะกับสรีระของคน เพราะนอกจากความสวยงามแล้วการออกแบบบันไดต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย เพื่อให้บันไดนั้นออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด

 

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น