เชียงใหม่ เปิดโมเดลแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นควันเน้น “ป้องกันมากกว่าไล่ดับไฟ” ขับเคลื่อนทุกภาคส่วนเพื่อคุณภาพอากาศที่ดี

สภาลมหายใจเชียงใหม่ ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เปิดปฏิบัติการเชียงใหม่โมเดล เน้นป้องกันมากกว่าไล่ดับไฟ โดยยึดหลักการทำงานให้พื้นที่เป็นตัวตั้ง และชุมชนเป็นแกนหลัก ขับเคลื่อนทุกภาคส่วนเพื่อคุณภาพอากาศที่ดี พร้อมมอบอุปกรณ์สนับสนุนการเตรียมการป้องกันไฟป่า แก่ผู้แทนจาก 35 ตำบล
 
วันนี้ (18 ม.ค. 64) ที่บริเวณด้านหน้าหอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ สภาลมหายใจเชียงใหม่ ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมส่งมอบอุปกรณ์สนับสนุนการเตรียมการป้องกันไฟป่า ปี 2564 และประกาศแนวทางชุมชนเป็นแกนหลัก เน้นป้องกันแทนการไล่ตามดับไฟ โดยภายในงานได้มีการเสวนาแผนบริหารจัดการไฟป่าในพื้นที่จากผู้แทน/ผู้นำชุมชน พื้นที่นำร่อง 3 พื้นที่ ประกอบด้วย กำนันตำบลน้ำบ่อหลวง อำเภอสันป่าตอง เครือข่ายสิ่งแวดล้อมม้ง ดอยสุเทพ-ปุย และรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้หัวข้อ “ความหวังและพลังชุมชน”
พร้อมกันนี้ มูลนิธิเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ สภาองค์กรชุมชน จังหวัดเชียงใหม่ และสื่อมวลชนเชียงใหม่ ได้มีการส่งมอบสิ่งของและอุปกรณ์ สนับสนุนการเตรียมการป้องกันไฟป่าและฝุ่นควัน ปี 2564 อาทิ เครื่องเป่าลม เครื่องพ่นน้ำ ถังน้ำ วิทยุสื่อสาร เครื่องตัดไม้ แก่ผู้แทนจาก 239 หมู่บ้าน 35 ตำบล 19 อำเภอ ของจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อใช้ปฏิบัติภารกิจในห้วงเดือนมกราคม-เดือนพฤษภาคม 2564
 
นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในปีนี้ได้มีการปรับแผนการดำเนินงานโดยการลงพื้นที่สำรวจความต้องการอุปกรณ์เครื่องมือสนับสนุนการทำงานด้านการป้องกันฝุ่นควันไฟป่าของชุมชน โดยเน้นการป้องกันมากกว่าการไล่ดับไฟ และกระตุ้นให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วม เช่น การร่วมกันทำแนวกันไฟ ซึ่งจะเริ่มทำแนวกันไฟในช่วงปลายเดือนมกราคมไปจนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ภายใต้ “ปฏิบัติการเชียงใหม่โมเดล” ซึ่งได้ดำเนินการอย่างเข้มข้นมาอย่างต่อเนื่อง และยึดหลักการทำงานโดยให้พื้นที่เป็นตัวตั้ง และชุมชนเป็นแกนหลัก ในการร่วมมือกับหน่วยงานของภาครัฐ ปฏิบัติการป้องกันไฟป่า
 
นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการที่แตกต่างไปจากปีที่ผ่านมา คือเปลี่ยนจากการบังคับใช้กฎหมายจับกุมผู้ลักลอบเผาป่า มาเป็นการวางแผนควบคุมการบริหารจัดการเชื้อเพลิง โดยมีทางภาควิชาภูมิศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้ามามีส่วนร่วมจัดทำแอปพลิเคชั่น Thai Air Quality ตรวจสอบค่า PM2.5 กระแสลม อุณหภูมิ การยกตัวของอากาศ เพื่อหาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการจัดการบริหารเชื้อเพลิง ลดปัญหาการสะสมของฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และทำให้เกิดคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก เฟซบุ๊ก PR Chiangmai

ร่วมแสดงความคิดเห็น