ผวจ.เชียงใหม่ยกทีมลงพื้นที่ตรวจการบ้านอำเภอดอยเต่า จี้รวบรวมข้อมูลรายแปลงการบริหารจัดการเชื้อเพลิงส่งเข้าคิวจองภายในสิ้นมกราคมนี้

วันที่ 19 ม.ค. 64 เวลา 14.30 น. ณ ที่ว่าการอำเภอดอยเต่า จ.เชียงใหม่ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และคณะกรรมการศูนย์บัญชาการป้องกัน แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่ ตรวจเยี่ยมการเตรียมการในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาไฟป่าฝุ่นควันของอำเภอดอยเต่า โดยมี นายภัควัต ขันธหิรัญ นายอำเภอดอยเต่า พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าฯ ในพื้นที่ร่วมประชุมเพื่อนำเสนอแผนการบริหารจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาฯ

นายภัควัต ขันธหิรัญ นายอำเภอดอยเต่า และคณะทำงานศูนย์บัญชาการป้องกัน แก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) อ.ดอยเต่า นำเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาฯ โดยสรุปว่า สถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่ดอยเต่าปี 2563 ที่ผ่านมามีจุด Hot Spot ในพื้นที่เกิดขัึ้นทั้งสิ้น 802 จุด เป้าหมายปีนี้ต้องลดลง 25% คือต้องไม่เกิน 600 จุด ในการบริหารจัดการได้มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ป่า พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุมชน และพื้นที่ริมทาง

สำหรับพื้นที่ป่าซึ่งมีทั้งป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ มีการวางแผนบริหารเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าตามหลักวิชาการ โดยในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อยซึ่งมีอยู่ในอำเภออมก๋อยและดอยเต่า มีแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงรวม 8 แปลง เนื้อที่รวม 27,101 ไร่ ส่วนพื้นที่ป่าอนุรักษ์มีแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิง 15 แปลง เนื้อที่รวม 1,929 ไร่ ส่วนพื้นที่เกษตรกรรมอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลพื้นที่รายแปลงในการที่จะมีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงเพื่อเสนอผ่านความเห็นชอบจากจังหวัดเชียงใหม่ผ่านการจองคิวการจัดการ “FireD” สำหรับพื้นที่ชุมชนได้มีการกำหนดกติการ่วมกันของชุมชน พร้อมกันนี้ได้มีการสร้างกลไกในการเฝ้าระวังไฟในพื้นที่ชุมชน ส่วนพื้นที่ริมทางหมวดทางหลวงได้ทำการตัดหญ้าทั้ง 2 ข้างทางในพื้นที่รับผิดชอบ

ด้าน นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า แนวทางที่จะแก้ไขปัญหา PM 2.5 ปี 2564 นี้ ให้ความสำคัญกับพื้นที่ โดยในพื้นที่ในระดับตำบลหมู่บ้าน ในพื้นที่จะต้องบริหารจัดการ กำหนดเป้าหมายในการปฏิบัติให้สอดคล้องกับเป้าหมายของจังหวัด การลด Hotspot และพื้นที่เผาไหม้ลง 25% จากที่จะต้องกำหนดพื้นที่ว่าพื้นที่ใดต้องเป็นพื้นที่บริหารจัดการ พื้นที่ใดที่จะต้องเป็นพื้นที่ป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่า รวมถึงการทำแนวกันไฟ การวางแนวในการลาดตระเวนป้องกันรักษาป่า การบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายปกครอง ฝ่ายท้องถิ่น ฝ่ายที่เป็นจิตอาสาช่วยเหลือ และการประสานงานกับทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายตำรวจ ทหาร แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ของฝ่ายป้องกันรักษาป่าของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องทำงานโดยที่ต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน เข้าใจเป้าหมาย เข้าใจวิธีการดำเนินการ

“ปีนี้เราให้ อปท. เป็นพระเอกในการบริหารจัดการระดับพื้นที่ โดยให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ เป็นกำลังสนับสนุน ในแต่ละพื้นที่จะทำเช่นไรก็ให้คุยกันในระดับพื้นที่ ส่วน อปท. ซึ่งเป็นพระเอกในปีนี้ขอย้ำว่าทุกแห่งสามารถใช้ทั้งงบประมาณท้องถิ่น ใช้ทั้งกำลังคน เครื่องมือเครื่องจักร เพื่อการบริหารจัดการแก้ไขไฟป่าในระดับพื้นที่ได้ รวมถึงการเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ข้างเคียงทั้งในอำเภอเดียวกันหรือระหว่างจังหวัดโดยการสั่งการของนายอำเภอพื้นที่สามารถทำได้ทุกเรื่องทุกอย่างในการจะแก้ปัญหาไฟป่าฝุ่นควัน” ผวจ.เชียงใหม่ กล่าว

นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การที่มาติดตามงานในวันนี้เพื่อต้องการทราบพื้นที่ที่จะบริหารจัดการเชื้อเพลิงเป็นรายแปลง ซึ่งในส่วนที่รับผิดชอบของ สบอ.16 และ สจป.1 เชื่อว่ามีแผนการจัดการเชื้อเพลิงเป็นรายแปลงแล้ว ยังมีอีกส่วนซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรที่จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงจึงขอให้เร่งรัดการตรวจสอบพื้นที่เพื่อการวางแผนการจัดการไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนและจะสร้างปัญหาได้ ทั้งนี้เป้าหมายของอำเภอดอยเต่าจากข้อมูลปี 2563 มีพื้นที่เผาไหม้ราว 132,475 ไร่ ในปี 2564 นี้มีเป้าหมายให้ลดลง 25% เพราะฉะนั้นพื้นที่เผาไหม้ต้องมีไม่เกิน 99,356 ไร่ จุด Hot Spot ก็เช่นกัน จากปี 2563 เกิดทั้งสิ้น 802 จัด ปีนี้ก็ต้องไม่เกิน 600 จุด ก็ขอให้ทุกหมู่บ้านตำบลเร่งสำรวจและรวบรวมส่งให้ท้องถิ่นเพื่อนำลงระบบจองการบริหารจัดการเชื้อเพลิงต่อไป ซึ่งทางอำเภอกำหนดให้ทุกพื้นที่ส่งข้อมูลภายในสิ้นเดือนมกราคม 2564 นี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น