มท.1 สั่งการทุกจังหวัดเตรียมพร้อมป้องกัน และแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2564 เน้นย้ำแผนจัดหาน้ำให้เพียงพอ ต่อการอุปโภค-บริโภคของประชาชน

วันนี้ (22 ม.ค.64) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้ติดตามสภาพอากาศร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูร้อน ตั้งแต่ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิเริ่มสูงขึ้น และตั้งแต่เดือนมีนาคมจะมีอากาศร้อนอบอ้าวและแห้ง ความชื้นในอากาศมีน้อย และมีอากาศร้อนจัดเป็นบางวัน โดยเฉพาะบริเวณประเทศไทยตอนบน

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า เพื่อให้การเตรียมการป้องกัน และแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2564 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2563/64 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 63 จึงได้สั่งการให้กองอำนวยการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทุกจังหวัด ดำเนินการ 7 ด้าน

1) ใช้กลไกระบบบัญชาการเหตุการณ์ตามกฎหมายและแผน ว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มอบหมายภารกิจให้หน่วยงานรับผิดชอบ 3 กลุ่มภารกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มพยากรณ์ โดยตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ ทำหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ สภาพน้ำท่า และระดับน้ำในแหล่งเก็บน้ำขนาดต่าง ๆ ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อวิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์น้ำต้นทุน และความต้องการใช้น้ำในด้านต่าง ๆ กลุ่มบริหารจัดการน้ำ โดยดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการ/คณะทำงานของจังหวัด ทำหน้าที่วางแผนการใช้น้ำในลักษณะต่าง ๆ ทั้งการอุปโภค-บริโภค การรักษาระบบนิเวศน์ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน รวมทั้งกำหนดแนวทางในการระบายน้ำและกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ ให้เป็นไปอย่างครอบคลุม สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ กลุ่มปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยจัดเตรียมกำลังคน วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย โดยบูรณาการฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร ภาคเอกชน เข้าดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหากรณีน้ำ เพื่อการอุปโภค-บริโภคของประชาชนเป็นลำดับแรก พร้อมทั้งกำหนดแบ่งพื้นที่ ที่อาจได้รับผลกระทบ และมอบหมายหน่วยงาน/ภารกิจ หน่วยสนับสนุนให้ครอบคลุมแต่ละพื้นที่ และพร้อมเผชิญเหตุตลอด 24 ชั่วโมง

2) สำรวจ ตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้ถึงระดับหมู่บ้าน/ชุมชน พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแผนรองรับ อาทิ แหล่งสำรองน้ำดิบ แผนการวางท่อน้ำประปา แผนรับน้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำโดยตรง และแผนจัดสรรน้ำดิบ เพื่อให้การผลิตน้ำประปาเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่

3) ทบทวนและจัดทำแผนเผชิญเหตุภัยแล้งของจังหวัด ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยให้ความสำคัญกับการนำข้อมูลผลการสำรวจพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำของจังหวัด บทเรียนจากการปฏิบัติงาน ปัญหาอุปสรรคจากปีที่ผ่านมา ประกอบการวางแผนบูรณาการ และแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

4) ในส่วนของการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร ให้ดำเนินการตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ด้านการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ปี 2563/64 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมกำหนดมาตรการรองรับในพื้นที่ โดยเฉพาะพืชสวน ไม้ยืนต้น ที่มีความสำคัญทางเศรษกิจ และให้พิจารณาดำเนินการปฏิบัติการเติมน้ำ โดยประสานกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จัดทำฝนหลวงในพื้นที่เกษตรและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ เมื่อสภาวะอากาศเอื้ออำนวย

5) เฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ คู คลอง หรือแหล่งน้ำต่าง ๆ และส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมจัดการน้ำเสียตามหลัก 3R (Reduce ลดการใช้ Reuse การใช้ซ้ำ และRecycle นำกลับมาใช้ใหม่) รวมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบเส้นทางคมนาคมที่มีแนวติดคลอง ลำน้ำ หรือแม่น้ำต่าง ๆ สำรวจและกำหนดมาตรการรองรับ กรณีเกิดการพังทลายของตลิ่ง

6) ให้ฝ่ายปกครองร่วมกับฝ่ายทหารในพื้นที่ สอดส่อง ทำความเข้าใจ และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน โดยเฉพาะกรณีการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร ระมัดระวังมิให้เกิดปัญหาความขัดแย้งจากกรณีการแย่งชิงน้ำ และ

7) สร้างการรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ ตลอดจนมาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการใช้น้ำอย่างประหยัด และเชิญชวนประชาชนจิตอาสาในพื้นที่ ร่วมซ่อมสร้าง บำรุงรักษาแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็ก เพื่อให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น