ผวจ.แพร่สั่งทุกอำเภอ!เตรียมพร้อมรับมือภัยแล้ง เร่งให้สำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยเพื่อวางแผนป้องกันช่วยเหลือประชาชนอย่างทันเหตุการณ์

เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2564 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมจดหมายเหตุศาลากลางจังหวัดแพร่ นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธานการประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ภัยแล้ง เพื่อเร่งวางแผนการใช้น้ำและการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยง เน้นการบริหารจัดการน้ำอุปโภค-บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรกรรม ตามลำดับ โดยให้แต่ละอำเภอเร่งสำรวจเครื่องมืออุปกรณ์การใช้น้ำให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ หากพบปัญหาให้รีบแจ้งจังหวัด เพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขโดยด่วน


สถานการณ์น้ำและแนวทางการแก้ปัญหาตลอดจนการจัดสรรน้ำด้านอุปโภค-บริโภคจังหวัดแพร่ ประสบปัญหาภัยแล้งต่อเนื่องมาหลายปี สำหรับปี 2564 สามารถมีน้ำอุปโภคบริโภคได้อย่างไม่ขาดแคลน จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2564 จากนั้นจะต้องใช้แผนสำรองการใช้น้ำจากแผนที่วางไว้ ได้แก่ การใช้น้ำสำรองจากแหล่งน้ำบาดาล ปัจจุบันมีแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคจำนวน 3 แหล่ง ได้แก่ ประปาส่วนภูมิภาค สาขาแพร่ รายงานว่าน้ำดิบที่สูบจากแม่น้ำยมวันละ 14,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มีผู้ใช้น้ำจำนวน 12,000 ราย ซึ่งคาดว่าการบริการน้ำอุปโภคบริโภคในปี 2564 สามารถบริการประชาชนได้ หากระดับน้ำจากแม่น้ำยมต่ำกว่า 10 เซนติเมตร จะทำการสูบน้ำบาดาล จำนวน 5 บ่อ เพื่อสำรองการใช้น้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่


แหล่งที่ 2 ได้แก่ การประปาสาขาร้องกวาง รายงานว่า ที่ผ่านมายังไม่พบปัญหาการขาดแคลนน้ำปี 2564 คาดว่าน้ำประปาสาขาอำเภอร้องกวางมีเพียงพอต่อการใช้ของประชาชน

แหล่งที่ 3 ได้แก่ การประปาสาขาเด่นชัยครอบคลุม 2 พื้นที่ ได้แก่ อำเภอเด่นชัย และอำเภอสูงเม่น มีครัวเรือนจำนวน 4,800 ครัวเรือน ที่ใช้บริการน้ำผลิตน้ำจำนวน 4,000 คิวต่อวัน ในปี 2564 จะใช้วิธีการบริหารจัดการน้ำ โดยลดแรงดันน้ำลงคาดว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาการใช้น้ำประปาในพื้นที่ได้


สำหรับการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ภาพรวมของสถานการณ์น้ำ สำหรับทำเกษตรกรรมของเกษตรกรจังหวัดแพร่ โดยโครงการชลประทานแพร่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ พบว่าปริมาณน้ำแม่น้ำยมมีปริมาณลดลงจากปี 2563 จากสถานีวัดน้ำห้วยสัก อำเภอสอง ปี 2563 ปริมาณน้ำ 7.40 เมตร ปี 2564 จำนวน 2.06 เมตร สถานีวัดน้ำโค้ง อำเภอเมืองแพร่ ปี 2563 จำนวน 3.85 ปี 2564 จำนวน 2.36 เมตร โดยมีแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งไว้ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำจำนวน 14 ,300 ไร่ ผลการเพาะปลูกใน ปี 2563/64 พบการปลูกพืชฤดูแล้งจำนวน 46,300 ไร่สูงกว่าเป้าหมาย

ในปีนี้จึงขอความร่วมมือเกษตรกรให้ความร่วมมือในการงดปลูกพืชฤดูแล้งหรือลดจำนวนลง เช่น ล่นระยะเวลาในการเพาะปลูก เพื่อให้ทันต่อจำนวนน้ำที่มีอยู่ นอกจากนั้นยังมีหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการเกษตรกรรมเร่งให้การสำรวจและชี้แจงต่อเกษตรกรให้รับรู้และเข้าใจถึงการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง เพื่อป้องกันปัญหาการขาดทุนของเกษตรกร อาทิสำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์มอบให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแพร่และสำนักงานประมงจังหวัดแพร่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ดำเนินการโดยเร่งด่วนทั้งนี้ให้รายงานผลให้จังหวัดทราบภายในวันที่ 29 มกราคม 2564

ร่วมแสดงความคิดเห็น