(มีคลิป) กรมอนามัย แนะช่วงฝุ่นสูง ยึดหลัก 3 เปลี่ยน ก่อนออกกำลังกาย

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนที่นิยมออกกำลังกายกลางแจ้ง ควรยึดหลัก 3 เปลี่ยน ได้แก่ เปลี่ยนเวลา เปลี่ยนสถานที่ และเปลี่ยนรูปแบบ ในการออกกำลังกายในช่วงที่ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน และติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ หรือเฟซบุ๊กเพจ “คนรักอนามัย ใส่ใจอากาศ PM 2.5” ของกระทรวงสาธารณสุขอยู่เสมอ

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงของวันนี้ (23 มกราคม 2564) ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานในหลายจังหวัด โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งมีพื้นที่ที่มีค่า PM2.5 ที่อยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพถึง 30 พื้นที่ เนื่องจากสภาพลมอ่อนและคาดว่าจะมีลักษณะเช่นนี้จนถึงวันพรุ่งนี้ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ดร.สาธิต ปิตุเตชะ) มีความห่วงใยประชาชนที่ออกกำลังกายในที่โล่งแจ้งในช่วง ที่มีฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน เช่น การวิ่ง การปั่นจักรยาน การเล่นฟุตบอล ขอให้ยึดหลัก 3 เปลี่ยน ได้แก่ 1) เปลี่ยนเวลาออกกำลังกายในช่วงบ่าย หรือเย็นแทนช่วงเช้า และไม่ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากาก N 95 ในขณะที่ออกกำลังกายอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้ร่างกายต้องหายใจแรง เร็วขึ้น ส่งผลให้ระบบ หัวใจและหลอดเลือดทำงานหนักมากขึ้น และอาจเป็นอันตรายได้

2) เปลี่ยนสถานที่ เมื่อค่าฝุ่นสูงให้เปลี่ยนมาเป็นออกกำลังกายในอาคาร หรือฟิตเนสแทน เพราะการออกกำลังกายกลางแจ้งจะส่งผลให้อัตราการหายใจเพิ่มมากขึ้น โอกาสที่ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จะแพร่กระจายเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถุงลมในปอด และผ่านเข้าสู่ กระแสเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆ ได้มากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวาย หลอดเลือดในสมองตีบ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมไปถึงการกำเริบของโรคหัวใจและโรคหอบหืด และ 3) เปลี่ยนรูปแบบ เช่น เปลี่ยนจากการวิ่งมาเป็นการเดิน และหากอยู่ในระดับสีแดง ให้งดการออกกำลังกายกลางแจ้ง ให้เปลี่ยนเป็นรูปแบบการออกกำลังกาย เป็นการวิ่งบนลู่วิ่ง หรือใช้อุปกรณ์ออกกำลังกายในฟิตเนสแทน

“สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด ภูมิแพ้ โรคหัวใจ ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ให้งดการออกกำลังกายกลางแจ้ง หากออกจากบ้านให้สวมหน้ากากอนามัยป้องกันและสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจมีเสียงวีด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ หากพบอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ อย่างไรก็ตาม ประชาชนควรหมั่นติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศ ด้วยการดูค่า AQI ได้ที่เว็บไซต์ air4thai.pcd.go.th หรือแอพพลิเคชั่น “Air4thai” ของกรมควบคุมมลพิษ หรือเฟซบุ๊กเพจ “คนรักอนามัย ใส่ใจอากาศ สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5” ของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อสภาพอากาศดีขึ้น สามารถออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามความเหมาะสมของร่างกาย เพราะการดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของร่างกาย ปอด หัวใจ และระบบไหลเวียนโลหิตทำงานดีขึ้น ป้องกันการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง รวมทั้งยังทำให้มีสุขภาพดีในระยะยาวอีกด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น