(มีคลิป) “แม่มดกัญชา” ถกรัฐวิสาหกิจชุมชนอาหารสัตว์ ส่งเสริมปลูกกัญชง-กัญชา หลังลงชื่อ 50,000 คน เสนอกฎหมายปลดล็อค ให้แพทย์ใช้รักษาโรค ย้ำใครปลูก 6 ต้น ยังผิดกฏหมาย

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ที่อโรคยา เดอ สารภี ต.ชมภู อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ดร.แก้มหอม ณ ล้านช้าง ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาศาสตร์เอเชีย ในฐานะหมอจิตอาสา ได้พูดคุยแลกเปลี่ยน และระดมความคิดเห็น ส่งเสริมการปลูกกัญชง และกัญชาในประเทศ กับวิสาหกิจชุมชน ตามนโยบายรัฐบาล มีนายดี จันทคลักษณ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาหารสัตว์ส่งไนท์ซาฟารี นายอินถา หลวงใจ รองประธานฯ และนายกำจร สายวงค์อินทร์ อดีตสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ อ.หางดง ในฐานะสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจฯ ดังกล่าว ร่วมเสวนา พร้อมเยี่ยมชมอโรคยา เดอ สารภี และพิพิธภัณฑ์ ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับกัญชา ก่อน ดร.แก้มหอม มอบหนังสือ Cannabis-Witch แม่มดกัญชาเป็นที่ระลึก โดยใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง

ดร.แก้มหอม กล่าวว่า ได้ต่อสู้เพื่อปลดล็อคกัญชง เพื่อสกัดเป็นน้ำมันให้ใช้รักษาโรคทางการแพทย์ ตามนโยบายองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งกัญชง ชนกลุ่มน้อยหรือชาติพันธุ์ ได้ปลูกเพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์เสื้อผ้ามานานแล้ว ปัจจุบันราคากิโลกรัมละ 5 บาท จึงได้ร่วมกับภาคประชาชน และเครือข่าย ลงลายชื่อ 50,000 คน เพื่อเสนอกฎหมายปลดล็อคกัญชง ให้เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง แต่ไม่มีกลุ่มรัฐวิสาหกิจไหนได้รับใบอนุญาตปลูกกัญชง สักรายเดียว

“การที่รัฐบาลไม่ออกใบอนุญาตให้กลุ่มรัฐวิสาหกิจปลูกกัญชง และกัญชา แต่กลับให้นายทุนและผู้ประกอบการรายใหญ่เพียง 8 ราย ได้รับใบอนุญาตปลูกกัญชา กว่า 500,000 ไร่ ยกเว้นมหาวิทยาลัย ที่ได้ทำบันทึกข้อตกลงกับกระทรวงสาธารณสุข ปลูกกัญชาเพื่องานศึกษาวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกัญชาเท่านั้น ส่วนประชาชนทั่วไป ไม่สามารถปลูกได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ หากปลูกกัญชา 6 ต้น ถือว่าผิดกฎหมาย อาจถูกจำคุกได้” ดร.แก้มหอม กล่าว

ดร.แก้มหอม กล่าวอีกว่า นโยบายรัฐที่ส่งเสริมปลูกกัญชง และกัญชาให้เป็นพืชเศรษฐกิจนั้น รัฐบาลต้องปลดล็อคกฎหมายก่อน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้พืชดังกล่าวรักษาได้ ก่อนนำไปสู่การส่งเสริมเป็นพืชเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจประเทศ ดังนั้นการเสนอกฎหมายดังกล่าว รัฐต้องสนับสนุน ผลักดันกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนให้สภาพิจารณา และมีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อให้ผู้ประกอบการหรือประชาชน ได้ผลิตเพื่อส่งออก เป็นการสร้างงานและรายได้สู่ชุมชนทางหนึ่ง

นอกจากการออกกฎหมายเพื่อรองรับเรื่องดังกล่าวแล้ว รัฐบาลควรส่งเสริมการอบรมสัมมนากลุ่มรัฐวิสาหกิจชุมชน เพื่อเตรียมความพร้อมปลูกกัญชง และกัญชาอย่างเป็นระบบ ตามมาตรฐานสากล ซึ่งกัญชาถือเป็นพืชประจำท้องถิ่น มีแหล่งกำเนิดมาจาก 2 ประเทศ คือ ไทย อินเดีย ปัจจุบันกัญชาราคา เฉลี่ยกิโลกรัมละ 10,000-50,000 บาท บาท ในขณะที่กลุ่มรัฐวิสาหกิจชุมชน และเครือข่ายมีกว่า 500 แห่ง สมาชิกกว่า 500,000 คน หากรัฐบาลส่งเสริมและผลักดันเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม เชื่อว่าสร้างโอกาส เพิ่มทางเลือกให้กลุ่มรัฐวิสาหกิจชุมชน สามารถขยายผล หรือต่อยอดผลิตภัณฑ์กัญชาได้หลายรูปแบบ เพื่อสนองตอบความต้องการตลาดด้วย

“สถาบันมีแนวคิดสร้างหลักสูตรเกี่ยวกับกัญชา ภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัย เพื่อจัดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา อาทิหลักสูตร แพทย์เฉพาะทาง ยารักษาโรค มะเร็ง เบาหวาน ความดัน และลมชัก รวมทั้งผลิตภัณฑ์กัญชาที่อยู่ภายใต้การควบคุมกฎหมาย เนื่องจากไทยเป็นประเทศแรกในเอเชีย ที่เสนอให้มีการปลดล็อคดังกล่าว และมีชาวต่างชาติ อาทิ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สนใจอยากมาเรียนและศึกษาเรื่องกัญชา ที่สถาบันจำนวนมาก” ดร.แก้มหอม กล่าว

ดร.แก้มหอม กล่าวอีกว่า ส่วนคู่แข่งไทยในตลาดกัญชาโลก มี จีน กัมพูชา และพม่า ที่มีแหล่งผลิตและส่งออกโดยตรง ทำให้กัญชาล้นตลาด ราคาถูกลง แต่สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าตลาดกัญชา ปีละ 1,000 ล้านดอลล่าร์ หรือ 30,000 ล้านบาท เป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ ที่ตลาดเปิดกว้างอยู่ ดังนั้นมีโครงการจัดงานกัญชาโลก ซึ่งเป็นงานสัมมนาวิชาการ และฝึกอบรมให้ความรู้ ในวันที่ 20 เมษายนนี้ ที่เชียงใหม่ด้วย

ด้านนายดี กล่าวว่า ขอบคุณ ดร.แก้มหอม ที่ให้ความรู้ และมุมมองเรื่องกัญชา ให้รัฐวิสาหกิจนำไปเผยแพร่ ขยายผล ต่อยอดธุรกิจได้ ซึ่งรัฐวิสาหกิจพร้อมขับเคลื่อน และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้สมาชิกได้ปลูกกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจตามมาตรฐานสากล ภายใต้กรอบระเบียบกฎหมาย เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และรายได้ครอบครัวอีกทางหนึ่ง

ร่วมแสดงความคิดเห็น