หลายหมู่บ้านร่วมสืบชะตา “ป่าบงน้ำล้อม” เตรียมเสนอเป็น “แรมซ่าไซต์” อัตลักษณ์พื้นที่ชุ่มน้ำริมน้ำอิง

เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 64 ที่ป่าชุ่มน้ำบ้านป่าบงน้ำล้อม ชาวบ้านหมู่ 1 ต.ยางฮอม อ.ขุนตาล จ.เชียงราย ได้จัดกิจกรรม “สืบชะตาป่าชุ่มน้ำ แม่น้ำอิง” โดยมีชาวบ้านหลายหมู่บ้านใน ต.ยางฮอม และชาวบ้านในพื้นที่ป่าชุ่มน้ำอิง กว่า 200 คนเข้าร่วม โดยนายอิทธิมนต์ สุขศรี ผู้ใหญ่บ้านป่าบง กล่าวว่าชาวบ้านป่าบงอพยพมาจากเมืองน่าน ตั้งแต่สมัยอยุธยา นำโดย แสนหลวงอินทรเรืองฤทธิ พร้อมชาวบ้าน 16 ครอบครัว ได้พบเห็นที่รบลุ่มเขาดอยยาว มีความเหมาะสมกับการสร้างชุมชนริมที่ราบแม่น้ำอิง โดยในฤดูน้ำหลากน้ำมักท่วมหมู่บ้าน

นายทรรศักดิ์ เมืองแก่น ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านป่าบง กล่าวว่า ตนเกิดมาก็เจอป่าผืนนี้แล้ว ซึ่งปัจจุบันมี 229 ไร่ โดยเป็นป่าชุ่มน้ำที่เกิดขึ้นเองธรรมชาติ และชุมชนช่วยกันรักษาเอาไว้ ส่วนมากเป็นต้นข่อย ในฤดูน้ำหลากน้ำในแม่น้ำอิงจะเอ่อท่วมแต่ต้นไม้แต่ไม่ตาย และกลายเป็นพื้นที่หากินและวางไข่ของปลา ราวเดือนกรกฎาคม-กันยายน แต่น้ำไม่หลากท่วมมาแล้ว 3 ปี อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านยังได้ใช้ประโยชน์จากป่าผืนนี้ร่วมกัน ทั้งหาผัก หาปลา เอาไม้ตายมาทำฟืน โดยมีกติการ่วมกัน เช่น ใครล่าสัตว์ถูกปรับ 1 หมื่นบาท เพราะที่นี่ยังมีสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น ไก่ป่า นก อีเห็น

“เมื่อสมัยผมเด็กๆป่าชุ่มน้ำแห่งนี้ ผืนใหญ่กว่านี้มาก แต่มีคนอยากแบ่งไปเป็นที่ทำกิน จนกระทั่งราวปี 2517 คนเฒ่าคนแก่จึงห้ามโค่นและแผ้วถางป่า เพราะต้องการรักษาเอาไว้ให้ลูกหลาน เราจึงร่างกติกาการใช้ร่วมกัน เราต้องการให้ป่าผืนนี้ได้ขึ้นทะเบียนป่าชุ่มน้ำ เพื่อที่จะได้อนุรักษ์สืบต่อไป และไม่ให้ใครมาบุกรุก โดยปัจจุบัน เด็กๆลูกๆหลานๆ ได้มาหาปลา เล่นน้ำ นักเรียนมาสำรวจป่าศึกษาธรรมชาติ สมัยก่อนผมก็เลี้ยงควายในป่านี้ สนุกมาก เล่นน้ำกับควายตั้งแต่เช้าจนเย็น สมัยนั้นทุกบ้านต่างมีควายไว้ไถนา แต่ตอนหลังพอมีเครื่องจักรกล ควายเริ่มหายไปจนเดี๋ยวนี้ไม่มีบ้านไหนเลี้ยงควายอีกแล้ว”

ผู้ช่วยฯกล่าวว่า อยากให้มีการสำรวจป่าผืนนี้ และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพราะประชาชนจะได้ร่วมกันเรียนรู้เรื่องสัตว์ป่า สัตว์น้ำและกล้วยไม้ ที่ผ่านมาเคยมีภัยถูกคุกคาม เพราะมีความพยายามขยายเขตนาเข้ามาในป่า แต่ตอนนี้ผืนป่ากลายเป็นพื้นที่สาธารณะแล้ว ภัยดังกล่าวจึงหมดไป

ในช่วงท้ายของกิจกรรมชาวบ้านได้ร่วมกันประกาศ “ปฏิญญาป่าฮิมอิง” ว่า 1.เราจะร่วมกันรักษา ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์ป่าฮิมอิง รวมทั้งพื้นที่ชุ่มน้ำอื่นๆ เช่น หนอก บวก อย่างยั่งยืน 2.เราจะเคารพสิทธิในการจัดการทรัพยากรของชุมชน ที่ตั้งอยู่บนภูมิปัญญาท้องถิ่น 3.เราจะร่วมกันปกป้องพื้นที่ป่าอัตลักษณ์พิเศษ สู้นโยบายการคุ้มครองพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ(แรมซ่าไซด์) 4.เราจะประสานงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างบูรณาการ สอดคล้องต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ด้านนายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่าป่าผืนนี้เป็นส่วนหนึ่งใน 26 แปลงของป่าชุ่มน้ำอิง ที่มีคุณสมบัติเป็นป่าอัตลักษณ์พิเศษ ซึ่งได้มีการประเมินโดยคณะวิชาการของกรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นแรมซ่าไซด์หรือพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ซึ่งเราได้ทำเรื่องผ่านจังหวัดไปแล้ว ขั้นต่อไปรอให้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการต่อไป

นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า ป่าบงน้ำล้อมเป็นระบบนิเวศน์เชื่อมโยงแม่น้ำโขง ในช่วงฤดูฝนเมื่อแม่น้ำโขงล้นเอ่อเข้ามาในแม่น้ำสาขาเช่น แม่น้ำอิง ทำให้ป่าผืนนี้เป็นพื้นที่รับน้ำ กลายเป็นระบบนิเวศพิเศษที่มีความหลากหลายของพันธุ์พืชไม่ต่ำกว่า 60 ชนิด พืชบางชนิดมีเฉพาะในป่าริมแม่น้ำอิง เช่น ต้นชุมแสง ที่สามารถอยู่ในช่วงน้ำท่วม 3 เดือนโดยไม่ตาย

ร่วมแสดงความคิดเห็น