ฤดูฝนมาเร็ว แต่จะทิ้งช่วง มิ.ย.-ก.ค.นี้ เตือนรับมือ น้ำหลากสลับแล้งบางพื้นที่

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กรมชลประทาน เปิดเผยว่าน้ำต้นทุนค่อนข้างมีน้อย ซึ่งในการบริหารจัดการน้ำปีนี้ ได้มีการเน้นย้ำให้หน่วยงานชลประทานทุกพื้นที่ ปรับปรุงพัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทานให้มีประสิทธิภาพ ทุกโครงการชลประทานบริหารจัดการน้ำอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม และไม่ให้ประชาชนขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคสำหรับ สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 37,206 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 49% ของความจุอ่างรวมกัน เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 13,277 ล้าน ลบ.ม. มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การได้น้อยกว่า 30% อยู่ 17 แห่ง เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแม่กวงฯ เขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนแม่มอก เป็นต้นได้กำชับให้ทุกแห่งเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และบริหารจัดการน้ำตามแผนการจัดสรรน้ำในพื้นที่อย่างเคร่งครัด

” ในด้านการช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำปี 2563/64 ได้เข้าให้ความช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำแล้ว 51 จังหวัด
124 อำเภอ 202 ตำบล 327 หมู่บ้าน จัดรถบรรทุกน้ำเข้าทำการแจกจ่ายน้ำให้แก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ อีกกว่า 380 เครื่อง ประจำยังจุดเสี่ยงต่างๆ ”

นอกจากนี้ ยังมีมาตราการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายใต้โครงการจ้างแรงงานชลประทาน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ประจำปีงบประมาณ 2564 รวมระยะเวลาจ้างงานประมาณ 3-8 เดือน ปัจจุบันมีการจ้างแรงงานไปแล้วกว่า 41,000 คน คิดเป็น 44% ของแผนการจ้างแรงงาน ขอความร่วมมือประชาชนทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งนี้ และมีน้ำสำรองไว้ใช้ในอนาคตต่อไป

ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่าแผนบริหารจัดการน้ำปีนี้จากแบบจำลองโนอา คาดการณ์มีโอกาสถึง 60% ที่จะเปลี่ยนจากปรากฏการณ์ลานิญา ฝนจะมากกว่าสภาวะปกติตั้งแต่ช่วงเมษายนนี้ ส่งผลให้ประเทศไทย เข้าสู่ช่วงฤดูฝนเดือน พ.ค.ที่จะถึงนี้ แต่พอถึงช่วง มิ.ย.จะเกิดปรากฏการณ์ฝนทิ้งช่วง อาจกลายเป็นจุดเสี่ยงขาดแคลนน้ำ อาจต้องบริหารจัดการต้นทุนน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่ส่วนใหญ่ยังมีปริมาณน้ำน้อยติดต่อกันเป็นปีที่ 4 แล้ว น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 13,772 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีปริมาณน้ำ 38,451 ล้าน ลบ.ม. หรือราว 51% ของความจุอ่างรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 14,521 ล้าน ลบ.ม.

” โดย ภาพรวมการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งปี 2563/64 มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภคจนสิ้นฤดูแล้งนี้ แต่ปีนี้ฝนจะมาเร็ว และมีปริมาณตกมากกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 5% จะเกิดช่วงฝนทิ้งช่วง มิ.ย.-ก.ค.2564 ซึ่งต้องวางแผนบริหารจัดการน้ำ ตามแผนให้มีประสิทธิภาพ ฝนจะช่วยเติมน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ได้มากเพียงใดนั้นต้องติดตาม เพราะจะมีเขื่อนที่ปริมาณน้ำน่าเป็นห่วง มีน้ำต้นทุนต่ำ เขื่อนที่มีน้ำน้อยกว่า 30% ภาคเหนือ ก็จะมีเขื่อนแม่กวง, เขื่อนภูมิพล, เขื่อนแม่จาง เขื่อนแม่มอก เขื่อนสิริกิติ์ เป็นต้น”

ศูนย์น้ำอัจฉริยะ รายงานสถานการร์น้ำล่าสุดวันนี้ (16 เม.ย. 2564 ) ว่า น้ำในอ่างขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศกว่า 447 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกัน 37,115 ล้าน ลบ.ม.หรือ ร้อยละ 49 ของความจุ จะเป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 13,186 ล้าน ลบ.ม.หรือราวๆ 25 % ของความจุใช้การได้ ก็ยังคงต้องขอความร่วมมือเกษตรกร ประชาชน ทุกภาคส่วน ร่วมมือกัน ใช้น้ำอย่างรู็คุณค่า ประหยัดน้ำ “แม้ว่าฝนจะเข้ามาช่วงปลาย เม.ย.นี้ และฤดูฝนมาเร็วกว่าปกติคือช่วง พ.ค. แต่อาจจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงระยะ มิ.ย-ก.ค.นี้ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อต้นทุนน้ำที่มีอยู่ไม่เพียงพอ หากเพาะปลูกเกินแผนที่กำหนด ขอความร่วมมือกัน”

ร่วมแสดงความคิดเห็น