กองทัพภาคที่ 3 แนะวิธีดูแลเท้า โรคเท้าเหม็น (Pitted Keratolysis)

เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2564 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 128 ณ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พันเอก รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พร้อมด้วย พันเอก นายแพทย์ วิโรจน์ ชนม์สูงเนิน รองโฆษกฯ, พันโท วรปรัชญ์ กาศสกุล และ พันโท หญิง บุณฑริกา ฑีฆวาณิช ผู้ช่วยโฆษกฯ เป็นผู้แถลงข่าวฯ มีสาระสำคัญดังนี้

เรื่องโรคเท้าเหม็น (Pitted Keratolysis) เป็นโรคของการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังชั้นนอก ทำให้เท้าลอกและมีกลิ่นเหม็น พบได้บ่อยในผู้ที่ใส่รองเท้าหุ้มส้นเป็นเวลานาน ทำให้มีความอับชื้น มักไม่มีอาการคัน แต่มีเท้าลอก ผิวหนังดูชื้นแฉะ มีกลิ่นเหม็น และโรคเริ่มเกิดที่ฝ่าเท้าก่อน ซึ่งเมื่อสังเกตที่ฝ่าเท้าพบว่ามีลักษณะเป็นรูเล็กๆ หรือถลอกเป็นปื้นๆ ร่วมกับอาการกลิ่นเหม็นนั้น ยิ่งไปกว่านั้น บางคนคิดว่าเป็นโรคน้ำกัดเท้าที่เกิดจากเชื้อราจึงหาซื้อยาฆ่าเชื้อรามาทาแต่ก็ไม่หาย ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า อาการเท้าเหม็นที่ว่ามานั้นไม่ได้เกิดจากเชื้อราแต่เป็นเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งบางครั้งเรียกโรคนี้ว่า “โรคเท้าเป็นรู” หรือ “โรคเท้าเหม็นเป็นรู”

สาเหตุของโรคเท้าเหม็นจากเชื้อแบคทีเรีย โรคเท้าเหม็นจากเชื้อแบคทีเรีย มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Pitted Keratolysis (พิต-เต็ด-เคอร์-รา-โท-ไล-สิส)” ตามลักษณะอาการที่พบ นั้นคือ ผิวหนังบริเวณฝ่าเท้าเป็นรู (Pitted = รู หรือ หลุม) เนื่องจากมีการหลุดลอกของผิวหนังชั้นบน (Keratolysis = การสลายของผิวหนังชั้นบน) ซึ่งมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก โดยเฉพาะกลุ่ม Corynebacterium spp. (โค-ราย-นี-แบค-ที-เรียม) หรือ Kytococcus Sedentarius (ไค-โต-คอค-คัส-ซี-เด็น-ทา-เรียส) ซึ่งปกติพบบนผิวหนังของมนุษย์ในปริมาณพอเหมาะ แต่สามารถเจริญเติบโตได้ดี ในสภาวะอับชื้น โดยเฉพาะในเขตร้อนชื้นอย่างบ้านเรา ดังนั้น ผู้ที่มีเหงื่อออกมากและสวมใส่ถุงเท้าและรองเท้าที่ระบายอากาศได้ไม่ดีหรือไม่รักษาความสะอาดของถุงเท้าและรองเท้า มักส่งเสริมการเพิ่มจำนวนของเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวจนก่อให้เกิดโรคที่ฝ่าเท้าได้ โดยเชื้อเหล่านี้สามารถผลิตเอนไซม์ออกมาย่อยสลายผิวหนังชั้นบนจนเกิดเป็นรูหรือหลุม โดยเฉพาะฝ่าเท้าบริเวณที่ต้องรับน้ำหนักมากๆ แต่มักไม่มีอาการคัน (แตกต่างจากเชื้อราหรือน้ำกัดเท้า) ส่วนกลิ่นเท้าที่เหม็นนั้นเกิดจากเชื้อแบคทีเรียสร้างสารประกอบซัลเฟอร์ (Sulfur Compounds) ออกมาซึ่งมีกลิ่นเฉพาะตัว อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อ จึงไม่ต้องกังวลว่าหากอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรคนี้แล้วจะติดมาด้วย

วิธีการรักษาโรคเท้าเหม็นจากเชื้อแบคทีเรีย ยาหลักที่ใช้รักษาโรคนี้ ได้แก่ ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิดทาผิวหนัง ซึ่งใช้เวลารักษาประมาณ 2-4 สัปดาห์ ร่วมกับการรักษาความสะอาดและดูแลเท้าด้วยสบู่ที่มียาฆ่าเชื้อ และอาจต้องใช้สารระงับเหงื่อ เช่น 20% Aluminium Chloride (อะ-ลู-มิ-เนียม-คลอ-ไรด์) ซึ่งมีทั้งชนิดผงโรยเท้าและน้ำยาทาเท้า วันละ 1-2 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสวมใส่ถุงเท้าและรองเท้าร่วมด้วย

นอกจากนี้ บางกรณีแพทย์อาจจ่ายยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิดรับประทานให้ผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการเป็นบริเวณกว้าง หรือใช้ยาทาแล้วไม่หาย แต่ยารับประทานอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้มากกว่า เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาการแพ้ยา เป็นต้น

วิธีการดูแลตัวเอง เพื่อป้องกันการเกิดโรคเท้าเหม็นจากเชื้อแบคทีเรีย สำหรับผู้ที่เคยเป็นโรคนี้แล้วมักเป็นซ้ำได้อีก ดังนั้น จึงควรดูแลเท้าให้แห้งอยู่เสมอ และปฏิบัติตัวดังนี้. 1) ล้างหรือฟอกเท้าด้วยสบู่หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายที่ผสมยาฆ่าเชื้อ แล้วเช็ดให้แห้ง 2) ทาสารระงับเหงื่อที่เท้า (ดังกล่าวมาแล้ว) อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง 3) สวมถุงเท้าที่ดูดซับเหงื่อได้ดี เช่น ถุงเท้าที่ทำจากผ้าฝ้าย หรือ Wool เป็นต้น

4) เปลี่ยนถุงเท้าบ่อยขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีเหงื่อออกมาก 5) สวมรองเท้าหุ้มส้น เช่น รองเท้าบูท รองเท้ากีฬา รองเท้าคัทชู ในช่วงเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ 6) ไม่ควรสวมรองเท้าเดิมติดต่อกันเกินสองวัน ควรสลับการใช้เพื่อจะได้นำไปตากให้แห้ง 7) ควรสวมรองเท้าแตะที่มีการระบายอากาศที่ดี เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่จำเป็นต้องสวมใส่ชุดพิธีการมากนัก8) ไม่ควรใช้ถุงเท้า รองเท้า หรือผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น แม้โรคนี้จะไม่ใช่โรคติดต่อ

คงเห็นแล้วว่าอาการเท้าเหม็นและเป็นรู นั้น สามารถป้องกันและรักษาได้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 จึงได้มอบหมายให้โรงพยาบาลทหาร ทั้ง 10 แห่ง ในพื้นที่ภาคเหนือ ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์โรคดังกล่าว ซึ่งหากพบว่ากำลังพล, ทหารกองประจำการ, ครอบครัวและพี่น้องประชาชน สงสัยมีอาการคล้ายโรคนี้ ควรไปปรึกษาแพทย์ผิวหนัง ณ โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ หรือโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง และรักษาให้หายขาดจากโรคดังกล่าวต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น