กอ.รมน.จ.พะเยา เผยข้อมูลการแก้ไขปัญหาไฟป่า และหมอกควันปี 64 พบจุดความร้อนลดลง 2,113 จุด คิดเป็น 54.40% สามารถบริหารจัดการเชื้อเพลิงกว่า 5,288 ไร่

เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2564 พ.อ.เจนณรงค์ ขำฉา รอง ผอ.รมน.จ.พะเยา( ฝ่ายทหาร ) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 23 เมษายน 2563 จ.พะเยา ตรวจพบจุดความร้อนระบบเวียร์ (VIIRS) จำนวน 3,814 จุด โดยเกิดขึ้นพื้นที่บริเวณป่าอนุรักษ์ จำนวน 2,529 จุดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 879 จุด นอกนั้นจะเป็นพื้นที่อื่นๆ เช่น เขต สปก. พื้นที่เกษตร พื้นที่ริมทางหลวง และชุมชนอื่นๆ จำนวน 406 จุด เปรียบเทียบ ปี 2563 และ 2564 พบว่า ปี 2564 จำนวนจุดความร้อนลดลง 2,113 จุด คิดเป็น 54.40% โดยจังหวัดมีคุณภาพอากาศค่าเกินมาตรฐาน จำนวน 56 วัน ค่าสูงสุด คือ 106 วันที่ 9 มีนาคม 2564 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 ลดลง จำนวน 22 วัน คิดเป็น 28.21%

ทั้งนี้ที่ผ่านมา จ.พะเยา ใช้มาตรการกำหนดช่วงเวลาห้ามเผาเด็ดขาด และมาตรการทางกฎหมายในการควบคุม ในท้องที่ จ.พะเยา ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2564 และแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก(PM2.5) จ.พะเยา ในช่วงห้ามเผาเด็ดขาด ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2564 ควบคู่กับพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 มาตรา 25 และพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 และที่แก้ไขเพิ่มเติม


ในส่วนของโครงการบริหารจัดการเชื้อเพลิง “ชิงเก็บ ลดเผา” นั้น จ.พะเยา มีเป้าหมายดำเนินการ 170 ตัน เป็นการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่เกษตร โดยการไถกลบตอซัง จำนวน 5,288 ไร่ การทำปุ๋ยหมัก จำนวน 110 ตัน โดยหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดรณรงค์ประชาสัมพันธ์โครงการส่งเสริมไถกลบและผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อป้องกันหมอกและควันไฟในพื้นที่เกษตรภาคเหนือ จ.พะเยา อย่างต่อเนื่อง


ทั้งนี้ที่ผ่านมา จ.พะเยา ได้จัดชุดปฏิบัติการลาดตระเวน เฝ้าระวัง และดับไฟ จำนวน 27,241 ครั้ง โดยเป็นการลาดตระเวน และเฝ้าระวังและดับไฟโดยชุมชน 464 ชุด จำนวน 6,120 ครั้ง และมีการสนธิกำลังทั้งหน่วยงาน กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ หน่วยงานทหาร หน่วยงานตำรวจ 27 ชุด 160 นาย จำนวน 81 ครั้ง รวมทั้งการลาดตระเวน เฝ้าระวังไฟป่าในพื้นที่ โดย หน่วยงานสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จำนวน 49 ชุด 312 นาย 3,960 ครั้ง นอกจากนี้ จ.พะเยา ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาพื้นที่รอยต่อพะเยา โดยการจัดชุดรณรงค์ประชาสัมพันธ์เชิงรุก ประชาสัมพันธ์ในชุมชนที่อยู่ตามรอยต่ออย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง เพื่อควบคุมการเข้าป่า อย่างไรก็ตาม ผลสำเร็จของการแก้ไขปัญหาของ จ.พะเยา ในครั้งนี้เกิดจากการบูรณาการของหน่วยงานในพื้นที่ และความร่วมมือจากประชาชน ในการลดการเผา โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ คนพะเยาสุขภาพดี ไม่มีฝุ่นควัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น