โควิดรอบ 3 อสังหาฯ เชียงใหม่ หนักกว่าต้มยำกุ้ง กำลังซื้อวูบ 80% เรียกร้องรัฐลดค่าธรรมเนียมโอน

โควิดรอบ 3 กระทบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เชียงใหม่หนักกว่าต้มยำกุ้ง โดยภาพรวมภาคอสังหาริมทรัพย์เชียงใหม่เวลานี้ต้องทำโปรโมชั่นออนไลน์เท่านั้น ไม่สามารถเปิดบูธขายได้ทำให้สภาพคล่องหายไปจากระบบถึง 80% ราคาร่วง 25% ถึงแม้ว่า หลายโครงการจะออกแคมเปญลดราคา ชนิดไม่เคยมีมาก่อน หรือแม้กระทั่ง โปร “อยู่ฟรี 3 ปี” ฐานกำลังซื้อโครงการใหม่ๆ ก็ยังเงียบสนิท

เรื่องนี้ถือว่า เป็นช่วงขาลงชนิดดิ่งเหวของ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ภายในจังหวัดเชียงใหม่ อย่างมากเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับต้มยำกุ้งปี 2540 ยังไม่สาหัสเท่าตอนนี้ การระบาดเชื้อโควิด-19 ธุรกิจก็ปิดตัว ส่งผลกระทบทำให้คนตกงาน และทำให้กำลังซื้ออ่อนตัวลงอย่างมาก นับตั้งแต่ปี 2561 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการคุมการปล่อยสินเชื่ออสังหาฯ เพื่อป้องกันตัวเลขหนี้ NPL ที่กำลังสูงขึ้นในหลายๆ สถาบันการเงิน

กำลังซื้อที่หายไป 80% รวมถึงเพดานค่าธรรมเนียมในการโอนบ้านก็เป็นสิ่งหนึ่งที่กระตุ้นผลทางลบอย่างมากในยุคที่ไม่รู้โควิด-19 จะจบเมื่อไหร่ ส่งผลให้ธุรกิจอสังหาฯ ออกแคมเปญลดแหลก แจกแถม เพื่อดึงกำลังซื้อในปี 2564 ที่มีอย่างจำกัดออกมาอย่างเต็มที่ เพื่อดึงเงินสดเข้าเสริมสภาพคล่องบริษัทและลดความเสี่ยง

ดังนั้นจะเห็นว่าช่วงกลางปี 2564 หลายบริษัทเริ่มถือเงินสดไว้ในมือให้นานที่สุด ควบคู่ไปกับการระบายสต๊อกเก่าออกให้ไวที่สุด โดยการออกโปรโมชั่นที่ไม่เคยมีมาก่อนอย่าง ลดราคาขายลง 20-25 % อยู่ฟรีก่อน 1-2 ปี ผ่อนดาวน์กับโครงการยาว 3 ปี พร้อมกับบริหารสต๊อกตามดีมานด์ของตลาดประคองตัวให้อยู่รอดและรักษาภาพลักษณ์ธุรกิจ

สำหรับรายที่แบกไม่ไหวจริง ๆ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีโครงการพักทรัพย์พักหนี้ (Asset Warehousing) โดยโอนหลักประกันให้กับสถาบันการเงินที่ตนเองกู้ แต่เจ้าของโครงการยังบริหารจัดการขายได้ เพื่อหักลบกลบหนี้ให้ลดลง จนกว่าเศรษฐกิจจะส่งสัญญาณฟื้นตัว สามารถขอซื้อสินทรัพย์โครงการกลับมาเป็นของตนเองได้อีกครั้ง  ซึ่งต้องยอมรับความจริงและปรับตัว โอนหลักประกันให้แบงก์ไป ถ้าจะสู้ต่อก็เปิดสำนักงานนั่งขายต่อรอแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์สอดคล้องกับ เศรษฐกิจในปัจจุบัน

จากผลกระทบในด้านต่างๆ รวมทั้งการระบาดโควิด-19 รอบที่ 3 ทำให้อสังหาฯ เชียงใหม่เงียบสนิท ลูกค้าไม่พร้อมที่จะแบกรับความเสี่ยงในด้านต่างๆ แม้กระทั่งดูรายละเอียดของโครงการ ประกอบกับสถาบันการเงินที่เข้มงวดการปล่อยกู้มากขึ้น ทำให้ยอดขายทุกโครงการในเชียงใหม่ดิ่งเหวประมาณ 80%

นั้นเพราะจังหวัดออกมาตรการควบคุมให้คนลดเดินทางการออกนอกบ้าน ถึงแม้ว่ามีการออกโปรโมชั่นผ่านสื่อโซเชียลเป็นหลัก “ตอนนี้แต่ละโครงการอัดแคมเปญแบบจัดหนักจัดเต็ม โดยเฉพาะให้เข้าอยู่ฟรีกี่ปี ผ่อนให้กี่เดือน แข่งขันกันดุเดือด 1 ปีก็มี  2 ปีก็มี บางโครงการก็จ่ายให้ 3 ปี ยังไม่พอ ฟรีค่าใช้จ่ายทุกอย่างในวันโอน และยังมีของแถมอีก

”ส่วนการเปิดโครงการใหม่ก็ชะลอไปก่อน เพราะสถานการณ์ไม่อำนวย ต้องรอให้การระบาดเชื้อโควิด-19 คลี่คลายอีกอย่างน้อย 2 เดือน เพราะนอกจากปัญหาด้านลูกค้าที่กำลังซื้อในตลาดไม่มีแล้ว ในส่วนของกิจการก็มีข้อจำกัด เพราะการจะขึ้นโครงการใหม่ต้องมีการประชุมทีมงานหลายด้าน ตั้งแต่เรื่องแบบ เรื่องการตลาด การบริหารการเงิน เข้าหน้างานโครงการก็ยาก เจรจาแบงก์ก็ยาก ทุกคนอยู่บ้านกันหมด จึงชะลอโครงการใหม่กันไปก่อน ส่วนโครงการที่ลงมือไปแล้วต้องทำต่อแต่ก็ระวังกันเต็มที่

ถึงแม้ว่า ตอนนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย มีมาตราการให้เงินกู้ฟื้นฟู วงเงิน 250,000 ล้าน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นำเงินไปใช้เพื่อประคองธุรกิจออกไปก่อน ซึ่งรัฐบาลควรช่วยดูแลให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงได้อย่างแท้จริง เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนประคองธุรกิจจากวิกฤติโควิดครั้งนี้

ในส่วนเรื่องค่าธรรมเนียมการโอนที่ออกมาก่อนหน้านั้น ตั้งเพดานสำหรับบ้านหรือคอนโดฯราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท นั้นไม่สอดคล้องกับสภาพตลาดบ้านของเชียงใหม่ที่มีราคาเริ่มต้นเกิน 3 ล้าน ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงควรขยายเพดานที่ไม่เกิน 5 ล้านบาท จะครอบคลุมตลาดที่ใหญ่ขึ้น นายวโรดม ปิฎกานนท์ ประธานอาวุโส หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ และประธานกรรมการบริษัท รีเกิล แอสเสท จำกัด เจ้าของโครงการบ้านจัดสรร เดอะพรอมิเน้นซ์ เปิดเผย

โดย…บ่าวหัวเสือ

ร่วมแสดงความคิดเห็น