ระวังสูญเงิน หลอกรักษาโรคทางเลือก โรคโควิด-โรคสัตว์เลี้ยง

ภาคีเครือข่ายแพทย์แผนไทย และผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพร ระบุว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ ทั้งโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในกลุ่มสังคมคนเรา และสัตว์เลี้ยง อาจส่งผลให้ ประชาชน ส่วนหนึ่งตัดสินใจเลือกใช้การรักษาโรคแบบทางเลือก หรือยาทางเลือกได้ ทั้งนี้ในช่วงมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไทยนั้น หลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกันเพื่อป้องกันควบคุมโรค ดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ ขณะที่กรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกได้ใช้องค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทย ศึกษาวิจัยสมุนไพรไทย เพื่อใช้เป็นยาทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19

ด้านแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้มีการจัดกิจกรรมเผยแพร่องค์ความรู้การส่งเสริมสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ในภาวะวิกฤตทางการแพทย์และสาธารณสุข ครั้งที่ 1 ในงานสมุนไพรไทย ทลายโรค ทลายโควิด เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทย ศึกษาวิจัยสมุนไพรไทยเพื่อใช้เป็นยาทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 พบว่า สมุนไพรฟ้าทะลายโจร ที่มีผลยับยั้งเชื้อไวรัส และมีฤทธิ์ต้านการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส หากนำมาใช้ร่วมรักษากับการแพทย์แผนปัจจุบันในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีระดับความรุนแรงน้อย (ไม่มีภาวะปอดอักเสบ) ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้นตามลำดับ และแทบไม่พบผลข้างเคียงอีกด้วย ในขณะที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) แนะนำว่า ในภาวะปัจจุบันนั้น มี รูปแบบบริการทางการแพทย์ การรักษาหลากหลาย ซึ่งแพทย์ทางเลือก เป็นการรักษาที่ผู้ป่วยสมัครใจรับ จนส่งผลให้เกิดศูนย์บริการดูแลสุขภาพทางเลือก ดังนั้น หากจะรับบริการควรเลือกรับบริการจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ที่มีประสบการณ์ในการรักษา

“เพราะอาจทำให้โรคที่เป็นอยู่กำเริบมากกว่าเดิมได้ หรือเป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่งที่ผ่านๆมา สบส.ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สภาการแพทย์แผนไทยและแพทยสภา ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามเบาะแสที่มีการร้องเรียน หรือแจ้งเบาะแสเข้ามา รวมถึงตามสื่อสังคมด้วย” สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และภาคีเครือข่ายแพทย์แผนไทย ระบุว่า หาก การกล่าวอ้างสรรพคุณ สิ่งที่
นำมาดูแลรักษา สุขภาพ เข้าข่ายโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต และคุณประโยชน์ หรือสรรพคุณเป็นเท็จ หลอกลวงให้หลงเชื่อ มีบทลงโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ยังระบุว่า กลุ่ม ขบวนการที่อวดอ้าง ดูแล รักษา สุขภาพแบบทางเลือก เปิดตาม ร้าน บ้าน อาคาร ที่พัก โฆษณาตามสื่อสังคม หากมีการร้องเรียน แจ้งเบาะแส เข้ามา จะมีฐานความผิดประกอบกันมากมาย ไม่ว่าจะ เป็นคดีความตามพรบ. อาหาร พ.ศ. 2522 ถ้านำสาระ ข้อมูล เผยแพร่ในโซเชียลอาจเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งมาตรา 14 ชี้ชัดว่า ถ้าก่อให้เกิดความเสียหาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนั้นยังมีพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม การประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือแสดงด้วยวิธีใดๆ เช่น เปิดร้าน จุดรับตรวจบำบัดหรือรักษาโรค กล่าวอ้างว่า ตนเองสามารถรักษาโรคได้ เป็นต้น การกระทำดังกล่าวมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ภาคีเครือข่ายแพทย์แผนไทย แนะนำว่า เข้าใจภาวะผู้ป่วย ที่อาจจะมีการดูแลรักษาโรค สุขภาพตามมาตรฐานทางการแพทย์ การสาธารณสุขทั่วๆ ไปแล้ว และอาจมีบุคคลใกล้ชิด ครอบครัว เพื่อนฝูง ญาติมิตรที่ปรารถนาดี แนะนำข้อมูล สถานที่ ซึ่งมีการแบ่งปันกันตามช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ว่า รักษาโรคโควิด โรคนั้น โรคนี้ได้ผลจริงทั้งในตัวเราและสัตว์เลี้ยง

“ควรปรึกษา แพทย์ ผู้ที่ดูแล รักษาตนเอง หรือ รพ.สต. ในพื้นที่ก่อน หรือหน่วยงานปศุสัตว์เพื่อประกอบการตัดสินใจ และศึกษาข้อมูลให้ละเอียด ที่สำคัญควรเก็บรวบรวมหลักฐาน สถานที่เข้ารับบริการ ขอชื่อนามสกุลผู้ที่ให้บริการ และเจ้าหน้าที่ในสถานนั้นๆ หากบันทึกภาพได้ก็ควรทำเพื่อเป็นหลักฐาน รวมถึงข้อความสนทนาผ่านแอปพลิเคชัน ช่องทางต่างๆ เนื่องจากในสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดนี้ ยังพบว่า มีชาวบ้าน ส่วนหนึ่ง หลงเชื่อ เข้ารับบริการ รักษา สุขภาพ จากโรคประจำตัว หรือ เข้าใจว่า มีอาการเจ็บป่วย ด้วยโรคอุบัติใหม่ ซึ่งกลุ่ม ผู้ให้บริการ ทางเลือกเหล่านี้ มักจะมีพิธีกรรม ไสยศาสตร์เข้ามา ประกอบสร้างความสนใจ หลอกล่อผู้รับบริการ หากสงสัย หรือรู้ตัวว่า อาจตกเป็นเหยื่อ ให้รีบแจ้งท้องที่ใกล้เคียง ณ สถานที่ตั้ง จุดบริการทางเลือกได้ ”

ร่วมแสดงความคิดเห็น