ผวจ.แม่ฮ่องสอน ลงพื้นที่ อ.แม่ลาน้อย พร้อมรับมือสถานการณ์ ปี 64

วันที่ 14 มิถุนายน 2564 เวลา 14.00 น. นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมด้วย นายชนก มากพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายชนาธิป เสมแย้ม ปลัดจังหวัดแม่ฮ่องสอน และนายเรืองฤทธิ์ ผลดี หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแม่ฮ่องสอน เดินทางตรวจติดตามศูนย์อำนวยการป้องกัน และแก้ไขปัญหาวาตภัย อุทกภัย น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม ระดับอำเภอ ที่อำเภอแม่ลาน้อย โดยมี ดร. ชูชาติ คำมา นายอำเภอแม่ลาน้อย นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ปกครองอำเภอ/ ท้องถิ่นอำเภอ/เทศบาลตำบลแม่ลาน้อย/เกษตรอำเภอ/สาธารณสุขอำเภอ/รพ.แม่ลาน้อย/ปศุสัตว์/พัฒนาการอำเภอ/ หมวดการทาง/ไฟฟ้า/สหกรณ์อำเภอ/ทหารพราน / อปท.ในพื้นที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านตัวแทนภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุม แจ้งปัญหาและข้อขัดข้อง อุปสรรคในการทำงาน ในแต่ละพื้นที่

ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า พื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน มักประสบกับภัยพิบัติตามวงรอบในแต่ละปี ประกอบกับพื้นที่เป็นภูเขา พื้นที่ลาดชัน ในปีนี้ฝนมาเร็วและมีปริมาณมากกว่าปีที่ผ่านมา ในพื้นที่อำเภอแม่ลาน้อยมีความคล้ายกับอำเภอแม่สะเรียง คือ มีแม่น้ำแม่ลาน้อยไหลผ่าน โดยมีจุดวิกฤตบริเวณสะพาน หมู่ที่ 1 ตำบลแม่ลาน้อย จุดนี้ในช่วงที่มีน้ำป่าไหลหลากน้ำจะพัดพาเศษกิ่งไม้ ท่อนไม้มากีดขวางทางน้ำ ทำให้น้ำไหลเอ่อท่วมหน้าสะพาน ในเบื้องต้นอำเภอแม่ลาน้อย ประสานกับ อปท.ในพื้นที่ จัดชุดเฝ้าระวังสถานการณ์

หากไม่สามารถแก้สถานการณ์ได้ทัน หรือปริมาณน้ำมามากหากสุ่มเสี่ยงในการล้นตลิ่ง จะใช้การวางกระสอบทรายแก้ไขเบื้องต้น ส่วนในระยะยาวต้องแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เนื่องจากแม่น้ำแม่ลาน้อยไม่ได้รับการขุดลอกมาเป็นระยะเวลานาน จึงมีแผนที่จะขุดลอก โดยมอบหมายให้ อปท.ออกแบบ เพื่อขออนุญาตกรมเจ้าท่า และจัดสรรงบประมาณมาดำเนินการต่อไป รวมถึงอาจมีการสร้างฝายเป็นช่วงๆ ในพื้นที่ ที่เป็นจุดเศรษฐกิจจะมีการออกแบบเขื่อนป้องกันตลิ่งเพิ่มเติม

ดังนั้น จึงขอความร่วมมือบูรณาการความร่วมมือร่วมใจทุกหน่วยงาน ให้การปฏิบัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรับมือสถานการณ์ วาตภัย อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ให้ดีที่สุด สูญเสียน้อยที่สุด ทุ่มเทให้เต็มกำลัง ลดความเสียหายทั้งพื้นที่ทางด้านการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ ส่วนความคืบหน้าโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) อยู่ในระหว่างการศึกษาผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม จะเร่งรัดอย่างรวดเร็วที่สุด คาดว่าหมู่บ้านเป้าหมายจะมีไฟฟ้าใช้ในปี 2567 ส่วนหมู่บ้านที่เหลือจะดำเนินการคู่ขนานใช้โซลาร์เซลล์

ในโอกาสนี้ ได้เน้นย้ำ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ตรวจสอบระบบการเตือนภัยทุกพื้นที่ ให้ความสำคัญกับชีวิตสูงสุด ป้องกันการเสียชีวิตและทรัพย์สิน หากพบไม้ยืนต้นตาย หรือไม้ล้ม ให้แจ้งเจ้าหน้าที่หน่วยพัฒนาป่าไม้แม่ลาน้อย เพื่อส่งเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจนำไม้ออกจากพื้นที่ และให้มีการประเมินความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ

จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมคณะลงพื้นที่ตรวจสอบจุดเปราะบางต่อการเกิดสถานการณ์ ที่สะพานน้ำแม่ลาน้อย หมู่ที่ 1 มักจะเกิดน้ำป่าไหลหลากรุนแรง น้ำท่วมซ้ำซาก และสะพานบ้านมะไฟ หย่อมบ้านห้วยริน หมู่ที่ 14 ตำบลแม่ลาน้อย  และในวันพรุ่งนี้จะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ที่อำเภอขุนยวม เป็นอำเภอสุดท้ายของการลงพื้นที่ติดตามการเตรียมความศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ วาตภัย อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ระดับอำเภอ

ร่วมแสดงความคิดเห็น