(มีคลิป) ชาวประมงแม่น้ำอิงลดฮวบเหตุนิเวศเปลี่ยน-หาปลาไม่ได้ วอนร่วมอนุรักษ์พื้นที่ป่าชุ่มน้ำแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ นักวิชาการแนะสร้างข้อบัญญัติท้องถิ่นดึงภาคประชาชนร่วมฟื้นฟู

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 ที่ศาลาวัดปากอิงเหนือ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ได้มีการประชุมประเมินการเปลี่ยนภูมิอากาศกับผลกระทต่อระบบนิเวศ วิถีชีวิตลุ่มน้ำอิง-โขง โดยมีชาวบ้านจากหลายหมู่บ้านในลุ่มแม่น้ำอิง นักอนุรักษ์ธรรมชาติและนักวิชาการเข้าร่วม ภายใต้การดำเนินโครงการส่งเสริมตัวเลือกในการปรับตัวตามระบบนิเวศที่ขับเคลื่อนโดยชุมชนและการสื่อสารสำหรับพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิง จากการสนับสนุนของ IKI, BMUB , IBRRI โดยความร่วมมือ จาก IUCN สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ภายใต้แผนงาน Mekong wet

นายอวยชัย คงสวน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านปากอิงใต้ กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาสภาพแวดล้อมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเยอะมากโดยเฉพาะปี 2564 แม่น้ำอิงและแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก หมู่บ้านปากอิงหาเคยหาปลาเป็นอาชีพแต่ในรอบ 10 ปีอาชีพหาปลาเปลี่ยนแปลงเพราะน้ำขึ้นแล้วแห้งเร็ว ส่งผลกระทบต่อการหาปลาอย่างมาก เมือตอนปี 2550 มีเรือหาปลา 70 ลำออกหาปลาวันละสองเที่ยว แต่เดี๋ยวนี้เหลือเรือหาปลาเหลืออยู่ไม่ถึง 20 ลำ จากที่คนทั้งชุมชนเคยหาปลา 80% ตอนนี้เหลือไม่ถึง 30% เชื่อว่าสาเหตุหนึ่งเกิดจากเขื่อนและฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง เพราะจู่ๆน้ำก็ขึ้น ทำให้คนที่ปลูกผักไม่ปลูกได้เพราะน้ำท่วม ชาวบ้านต้องหันมาทำงานรับจ้าง

“15 ปีที่ผ่านมาปลาในแม่น้ำหายไปเยอะมาก เดี๋ยวนี้พวกเราออกหาปลาแทบไม่ได้เลย เหลือปลาที่จับได้ไม่ถึง 10 ชนิด เมื่อก่อนตื่นเช้ามาเราก็หาปลา เพราะง่ายที่สุด ”นายอวยชัย กล่าว

นายเมือง ศรีสม ประธานป่าชุ่มน้ำบ้านม่วงชุม อ.เชียงของ กล่าวว่าประมาณ 5 ปีที่ผ่านมารู้สึกแม่น้ำอิงไม่เหมือนเก่า เวลาหน้าแล้งแม่น้ำขาดช่วงโดยมีเนินทรายอยู่ทั่วไปเชื่อว่าเกิดจากภัยแล้งและการสร้างเขื่อนทั้งเขื่อนที่เป็นกระสอบและประตูน้ำกักน้ำไว้ทำให้ไม่มีน้ำไหลลงแม่น้ำอิง และแม่น้ำโขงไม่เหมือนก่อนเพราะในอดีตแม่น้ำโขงหนุนทำให้น้ำไหลเข้าแม่น้ำอิง แต่ตอนหลังน้ำโขงไม่หนุนแม่น้ำอิงมาตั้งแต่ปี 2551 ทำให้ไม่มีปลาจากแม่น้ำโขงเข้าสู่แม่น้ำอิงโดยเฉพาะปีนี้แทบไม่เหลือเลย ทั้งๆที่เมื่อก่อนจับปลาได้ปลาเป็นกระสอบ ขณะที่ต้นไม้ในพื้นที่ชุ่มน้ำป่าม่วงชุมก็มีหนอนมาเจาะ ทำให้ต้นไม้ยืนต้นตายเพราะน้ำไม่ไหลเข้าป่ามาร่วม 10 ปี หนองน้ำก็ไม่มีน้ำและแห้งลงทุกที ปีที่ผ่านมาถึงขนาดไม่ได้เกี่ยวข้าวเพราะความแห้งแล้งทำให้ต้นข้าวตาย

“เราทำเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา พอน้ำแห้งปลาก็ไม่มีที่อยู่และหายไปเยอะมาก พอหาปลาไม่ได้ วังอนุรักษ์ยังเป็นพื้นที่แห่งเดียวที่ให้ปลาอยู่ได้ ถ้าไม่มีการอนุรักษ์เอาไว้ในแม่น้ำอิงก็จะไม่เหลือปลาเลย”นายเมือง กล่าว

นายไกรทอง เหง้าน้อย ผู้ประสานงานโครงการฯ กล่าวว่า สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในรอบกว่า10 ปีที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบกับชุมชนในลุ่มน้ำอิง และน้ำโขง จังหวัดเชียงรายในหลายด้าน ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะด้านระบบนิเวศแม่น้ำอิง ที่มีพื้นที่ป่าชุ่มน้ำกว่า26 ผืนป่า ต่างประสบกับปัญหาภัยแล้งต่อเนื่องมาหลายปี น้ำอิงไม่หนุนเข้าท่วมป่า ที่โดยปกติน้ำอิงจะต้องท่วมป่าในฤดูน้ำหลากในทุกๆปี ขังอยู่นานกว่า3เดือน ในรอบ5-6ปีมานี้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยน ภัยแล้งยาวนานน้ำอิงแห้งขอด น้ำไม่เข้าป่า ระบบนิเวศป่าเปลี่ยนไป พืชอาหารลดลง ต้นไม้ยืนต้นตายนับร้อยต้น และเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ เกิดจากแมลง หนอนเข้าเจาะต้นไม้ ชุมชนที่เคยทำอาชีพหาปลาเป็นหลักต้องเปลี่ยนอาชีพ อพยพไปรับจ้างต่างถิ่น เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่งผลต่อระบบนิเวศป่า แม่น้ำ ความหลากหลายด้าน พืช สัตว์ ที่ลดปริมาณลง สิ่งที่ชุมชนเคยพึ่งพา หายไป ส่งผลต่อวิถีชีวิตคนที่เปลี่ยนไป ซึ่งถ้ามองจากนี้อีก10 ปี ข้างหน้าถือว่ามีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่ชุมชนจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ มีความจำเป็นที่จะต้องรู้เท่าทันและตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ป่าชุ่มน้ำบ้านป่าข่า อ.ขุนตาล จ.เชียงราย โดยเป็นช่วงที่น้ำหลากไหลท่วมป่าซึ่งเป็นระบบนิเวศของป่าชุ่มน้ำริมแม่น้ำอิงทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์และชาวบ้านต่างได้หาปลาที่เข้ามากินอาหาร และต้นไม้ส่วนใหญ่คือต้นส้มแสงขนาดใหญ่ที่เป็นพืชอยู่กับน้ำท่วมขังได้เป็นอย่างดีและลูกส้มแสงเป็นอาหารที่สำคัญของปลา ป่าส้มแห่งนี้ผืนใหญ่ที่สุดในภาคเหนือและกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางนิเวศซึ่งมีเยาวชนมาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

นายสอน เทพสมบัติ ผู้ใหญ่บ้านป่าข่า กล่าวว่าป่าชุ่มน้ำผืนนี้มีพื้นที่ 70 ไร่โดยเป็นป่าโบราณที่อยู่มาตั้งแต่ตั้งชุมชนโดยปกติในฤดูฝนน้ำจะท่วม 3-4 เดือน ทำให้ปลาจากแม่น้ำโขงและแม่น้ำอิงเข้ามาหากินและวางไข่ เมื่อถึงเดือนตุลาคมน้ำจะเริ่มลดลงและปลาจะว่ายกลับไปอยู่ตามแม่น้ำและท้องร่อง อย่างไรก็ตามในช่วงหลังปลาจากแม่น้ำอิงและแม่น้ำโขงได้หายไป แต่ชาวบ้านก็ได้ร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์ปลามาแล้ว 5 ปีโดยมีหนองน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่งในเนื้อที่ราว 100 ไร่ เมื่อถึงฤดูน้ำหลากปลาในหนองน้ำอนุรักษ์จำนวนหนึ่งได้ออกไปยังป่าส้มแสงช่วยแพร่พันธุ์ ทำให้มีปลาอยู่ในธรรมชาติตลอดทั้งปี

“ป่าคือป่า บ้านคือบ้าน ปลาฟักไข่ก็ต้องให้เขาออกไป ผมอยากให้พื้นที่ลุ่มน้ำอิงมีป่าชุ่มน้ำเยอะๆ การอนุรักษ์ป่าและอนุรักษ์น้ำเอาไว้จะทำให้ลูกหลานได้มีอยู่มีกิน”นายสอน กล่าว

ผศ.ดร.สหัทยา วิเศษ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา กล่าวว่า ให้สัมภาษณ์ว่า ลุ่มน้ำอิงมีระบบนิเวศแตกต่างจากที่อื่นในภาคเหนือโดยตอนบนเป็นที่ราบลุ่มภูเขาแต่ตอนล่างเป็นป่าชุ่มน้ำซึ่งนอกจากเป็นพื้นที่รับน้ำแล้วยังเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวบ้านดังนั้นป่าชุ่มน้ำจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งต่อระบบนิเวศและชุมชนโดยในฤดูฝนหรือฤดูน้ำหลากน้ำจากแม่น้ำโขงได้เอ่อสูงทำให้น้ำไหลเข้าสู่ป่าชุ่มน้ำและเกิดความอุดมสมบูรณ์ อย่างไรก็ตามพื้นที่ป่าชุ่มน้ำกำลังถูกคุกคามทั้งจากโครงการของรัฐและตัวชาวบ้านเองที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว แต่ชุมชนก็ได้รวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายสภาประชาชนลุ่มน้ำอิงเพื่อช่วยกันดูแลและฟื้นฟูป่าชุ่มน้ำ

ผศ.ดร.สหัสทยา กล่าวว่าได้ทำวิจัยเรื่องการพัฒนาข้อบัญญัติท้องถิ่นในการอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำอิง พบว่าการมีข้อบัญญัติของท้องถิ่นจะช่วยเป็นเครื่องมือให้ชาวบ้านได้ร่วมกันดูแลป่าโดยสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมทั้งเรื่องการจัดการทรัพยากรและป่า โดยข้อบัญญัตินี้ไม่ได้ยึดหลักกฎหมายอย่างเดียวแต่ต้องยึดจารีตและกติกาของชุมชนที่มีอยู่ด้วย เช่น เรื่องการจัดปลา บางที่ชุมชนมีกติกาห้ามและถูกปรับ แต่มีบุคคลภายนอกเข้ามาจับบางทีก็บังคับใช้ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นข้อบัญญัติท้องถิ่นก็สามารถดำเนินการได้

“ข้อบัญญัติท้องถิ่นจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างจิตสำนึกและฟื้นฟธรรมชาติ แต่ตอนนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่เข้าใจเพราะมุ่งเน้นโครงสร้างพื้นฐาน แต่หลายพื้นที่ก็เริ่มเข้าใจ เพราะหากท้องถิ่นเข้าไปคลุกคลีกับปัญหาของชาวบ้านอย่างแท้จริงเขาก็ต้องลงไปหาชาวบ้านเพื่อจัดทำแผนและความรวมมือกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง”ผศ.ดร.สหัสทยา กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น