กรมการพัฒนาชุมชน จัดประกวดผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ในระดับภาค จ.เชียงใหม่

วันที่ 17 มิถุนายน 2564 เวลา 13.00 น.นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นประธานในการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ระดับภาค ร่วมด้วยทีมคณะกรรมการ การประกวดผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ในระดับภาค” ณ โรงแรมแคนทารีฮิลล์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

โดยมี นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับท่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนและคณะ ในโอกาสนี้ นายเจริญ สีวาโย พัฒนาการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยผู้อำนวยการกลุ่มงานฯ พัฒนาการอำเภอ ทั้ง 25 อำเภอ และนักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมพิธีเปิดการประกวดผ้าฯ

กรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดทำโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาและพัฒนาศักยภาพผ้าไทย เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในเรื่องการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยและเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายสิ่งทอและการอนุรักษ์ผ้าไทยให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ เพื่อสืบสาน อนุรักษ์ ปลุกกระแสเทรนด์ผ้าไทยให้ทันสมัย พร้อมดึงรายได้เข้าสู่ชุมชนเศรษฐกิจฐานราก และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ้าไทยแต่ละประเภทให้เป็นที่รู้จักผ่านการประกวดผ้าลายพระราชทาน จึงได้จัดทำโครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ขึ้น โดยมอบหมายให้ทุกจังหวัดดำเนินการประกาศรับสมัครประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” พร้อมทั้งรวบรวมและสรุปรายชื่อผู้สมัครส่งให้กรมการพัฒนาชุมชน เพื่อดำเนินการประกวดในระดับภาค และระดับประเทศต่อไป

เงื่อนไขการส่งผ้าเข้าประกวด (1) ต้องเป็นผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ที่เป็นผ้าพื้นถิ่นของจังหวัดเชียงใหม่ และต้องเป็นผ้าทอมือ หรือทำจากมือเท่านั้น (2) ผ้าที่ส่งเข้าประกวดต้องมีขนาดความกว้าง x ยาว ไม่น้อยกว่า 1 x 1.8 เมตร (2 หลา) กรณีผ้าตีนจก ต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่า 1 x 0.25 เมตร กรณีผ้าปักมือ ต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่า 30 x 30 เซนติเมตร (3) ต้องเป็นผ้าที่ตัดจากกี่ โดยไม่ผ่านการซัก อบ รีด หรืออาบน้ำยาเคมีใดๆ ทั้งสิ้น (Authentic) และห้ามเย็บริมผ้า ยกเว้น ผ้าบาติก/ผ้าพิมพ์ลาย/ผ้ามัดย้อม/กลุ่มผ้าชาติพันธุ์ (4) เส้นใยที่ใช้ทอ หรือผลิตผ้าในกรณีเป็นประเภทผ้าบาติก/พิมพ์ลาย/มัดย้อมต้องเป็นเส้นใยฝ้าย หรือเส้นใยไหมที่เป็นเส้นใยแท้ หรือเส้นใยธรรมชาติอื่นๆ (5) ใช้สีธรรมชาติไม่จำกัดสีในการย้อมเส้นใยทอผ้า หรือปักผ้า ยกเว้นผ้าบาติก/พิมพ์ลาย/มัดย้อม (6) ต้องมี Packaging และการนำเสนอเรื่องราวผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ สำหรับการสมัครในระดับจังหวัด ให้มี Storytelling และแนวคิดเรื่องของการทำ Packaging โดยไม่ต้องส่งตัว Package มาด้วย ในการประกวดระดับประเทศให้ส่งทั้ง Storytelling และ Packaging มาเพิ่มเติม

ประเภทผ้าลายพระราชทานที่ส่งเข้าประกวด แบ่งเป็น 15 ประเภท ตามเทคนิค/เอกลักษณ์ของผ้าประจำถิ่นของจังหวัดเชียงใหม่ โดยต้องมีองค์ประกอบหลักของลายพระราชทานครบถ้วน ดังนี้ (1) ผ้ามัดหมี่ 2 ตะกอ คือ ผ้าที่มีลวดลายโดยใช้เทคนิคการมัดเส้นด้ายให้เกิดลวดลายตามที่กำหนดแล้วนำไปย้อมสีก่อน แล้วจึงนำไปทอผ้า (2) ผ้ามัดหมี่ 3 ตะกอขึ้นไป (3) ผ้าขิด (4) ผ้ายกดอก คือ ผ้าที่ได้จากกรรมวิธีการทอให้เกิดลวดลายจากการยกเส้นยืนด้วยตะกอ (5) ผ้ายกใหญ่ ชนิดมีสังเวียน (6) ผ้ายกเล็ก เป็นผ้าที่มีกระบวนการทอโดยใช้เส้นด้าย 2 กลุ่มๆ หนึ่งใช้สำหรับเป็นเส้นด้ายทอพื้น อีกกลุ่มหนึ่งใช้สำหรับทอลวดลาย ให้เกิดเป็นลวดลายนูนได้อย่างอ่อนช้อยและประณีตบนเนื้อผ้า (7) ผ้าจกทั้งผืน เทคนิค “จก” คือเทคนิคการทอลวดลายบนผืนผ้าด้วยวิธีการเพิ่มเส้นด้ายพุ่งพิเศษ เข้าไปในขณะทอ โดยเสริมเป็นช่วงๆ ไม่ติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผ้า (8) ผ้าตีนจก (ตีนซิ่น) (9) ผ้าแพรวา (10) ผ้าลายน้ำไหล (เทคนิคเกาะ/ล้วง) (11) ผ้าเทคนิคผสม เป็นผ้าทอที่ใช้หลายเทคนิคผสมในผ้าผืนเดียวกัน เช่น ผ้ากาบบัว เป็นต้น (12) ผ้าบาติก/ผ้ามัดย้อม ที่เป็นผ้าทำมือ (13) ผ้าพิมพ์ลาย ที่เป็นผ้าทำมือ ไม่ใช้เครื่องจักร (14) ผ้าปักมือ โดยใช้เทคนิคการปักด้วยมือบนผืนผ้า (15) ผ้าเทคนิคสร้างสรรค์ บนพื้นฐานเอกลักษณ์ของจังหวัด

ในโอกาสนี้ กรมการพัฒนาชุมชน แต่งตั้งคณะกรรมการประกวดผ้าลายพระราชทาน ระดับภาค กำหนดพื้นที่ดำเนินการในระดับภาค 4 ภาค จำนวน 4 จุด โดยภาคเหนือ กำหนดดำเนินการระหว่างวันที่ 17–18 มิถุนายน 2564 ณ โรงแรมแคนทารีฮิลล์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผลิตภัณฑ์ผ้าส่งเข้าร่วมการประกวดในระดับภาคเหนือ (17 จังหวัด) รวมทั้งสิ้นมากกว่า 400 รายการ

จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP หรือช่างทอผ้าทั่วไป ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ มีผลิตภัณฑ์ผ้าส่งเข้าร่วมการประกวดในระดับภาค จำนวน 32 รายการ ประกอบด้วย ผ้าปักมือ จำนวน 25 รายการ ผ้าเทคนิคสร้างสรรค์ จำนวน 2 รายการ ผ้าตีนจก (ตีนซิ่น) จำนวน 3 รายการ ผ้าจกทั้งผืน จำนวน 1 รายการ และผ้าบาติก/ผ้ามัดย้อม จำนวน 1 รายการ

ซึ่งการตัดสินการประกวดในระดับประเทศโดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นองค์ประธานคณะกรรมการตัดสินการประกวดระดับประเทศ ระหว่างวันที่ 27-29 กรกฎาคม 2564 ณ กรุงเทพมหานคร สำหรับรางวัลการประกวดระดับประเทศ แบ่งเป็น 3 ประเภทรางวัล ประเภทที่ 1 The Best of Best รางวัลชนะเลิศรางวัลเดียวจากในแต่ละประเภทนำมาออกแบบตัดเย็บฉลองพระองค์ และรางวัลเหรียญพระราชทานพร้อมสร้อยคอทองคำ ประเภทที่ 2 The Best รางวัลที่ 1-3 ของ 15 ประเภท ได้รับรางวัลเหรียญพระราชทานทองคำ เงิน และทองแดง ตามลำดับ และประเภทที่ 3 ชมเชย Top 10 ของ 15 ประเภท ได้รับประกาศนียบัตร (Certificate)


วิญญู บุญสุวรรณ //ณัฐรดา เมืองลือ ภาพ : ข่าว
ทีมกลุ่มงานสารสนเทศฯ สนง.พช.เชียงใหม่

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น