ปภ.แนะเรียนรู้-เฝ้าระวัง-เตรียมพร้อม-ป้องกันดินถล่ม…ภัยพิบัติในช่วงฤดูฝน

ดินถล่ม เกิดจากการเคลื่อนตัวของดินหรือหินลงมาตามที่ลาดเชิงเขา ซึ่งมีน้ำเป็นปัจจัยเสริมให้สถานการณ์รุนแรงมากขึ้นก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรรู้เกี่ยวกับดินถล่ม การเตรียมความพร้อมรับมือ และการปฏิบัติตนเมื่อเกิดดินถล่ม ดังนี้

สาเหตุการเกิดดินถล่ม ได้แก่

ปัจจัยทางธรรมชาติ เกิดฝนตกหนักบนภูเขาสูง ส่งผลให้ดินไม่สามารถอุ้มน้ำไว้ได้ จึงเลื่อนไหล และถล่มลงมา ประกอบกับระดับน้ำในแม่น้ำเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เกิดการกัดเซาะของดินในระดับที่รุนแรง ทำให้ความหนาแน่นของมวลดินลดลง จนเกิดพังทลาย รวมถึงเกิดภัยธรรมชาติอื่นๆ อาทิ แผ่นดินไหว อุทกภัย คลื่นซัดฝั่ง
การกระทำของมนุษย์ อาทิ การตัดไม้ทำลายป่า การทำเกษตรในพื้นที่ลาดชัน การก่อสร้างบริเวณเชิงเขา ส่งผลให้ดินลาดชันมาก และเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการไหลของน้ำ เมื่อฝนตกอย่างต่อเนื่องดินจะชุ่มน้ำ และมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น จึงเลื่อนไหลถล่มลงมา

พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดดินถล่ม ได้แก่

  • บริเวณที่ลาดเชิงเขาหรือที่ใกล้ลุ่มใกล้เชิงเขาที่มีการพังทลายของดินสูง
  • บริเวณที่เป็นทางลาดชันและมีก้อนหินขนาดใหญ่ฝังตัวในดิน บริเวณที่ลาดต่ำที่มีชั้นดินหนาและอิ่มตัวในน้ำ
  • ภูเขาสูงที่มีการตัดไม้ทำลายป่า และไม่มีพืชปกคลุมดิน
  • หมู่บ้านหรือชุมชนที่อยู่ติดภูเขาและใกล้ลำห้วย
  • พื้นที่หน้าหุบเขาที่เคยเกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน และดินถล่ม หรือมีร่องรอยดินไหล
  • ลำห้วยหรือลำธารที่มีกองหินหลายขนาดปะปนมาตลอดท้องน้ำ หรือมีเนินทรายปนโคลนและต้นไม้

สัญญาณเตือนก่อนดินถล่ม ได้แก่

  • ความผิดปกติทางธรรมชาติ เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องมากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อวันหรือนานกว่า 6 ชั่วโมง ระดับน้ำในแม่น้ำลำห้วยเพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว โดยมีสีขุ่นมากกว่าปกติหรือเปลี่ยนเป็นสีเดียวกับภูเขา มีกิ่งไม้หรือท่อนไม้ไหลมากับกระแสน้ำ มีเสียงดังผิดปกติจากภูเขาลำห้วย อาทิ เสียงหักของต้นไม้ เสียงแตกของหิน สัตว์ป่าแตกตื่น
  • การเปลี่ยนแปลงของสิ่งก่อสร้างบนพื้นดิน ดินบริเวณฐานรากหรือตึกสิ่งก่อสร้างเกิดการเคลื่อนตัว โครงสร้างอาคารมีรอยแตก พื้นดินถนนยุบตัว เป็นหลุมล้อแยก ประกอบกับ ต้นไม้ เสาไฟ รั้วหรือกำแพง เคลื่อนตัวในลักษณะดันขึ้นหรือเรียงล้มลง เกิดร่องรอยระหว่างวงกบ ประตู หน้าต่างกว้างขึ้น รวมถึง ท่อน้ำใต้ดินแตกหรือหัก

การเตรียมความพร้อมรับมือดินถล่ม ให้ปฏิบัติ ดังนี้

  • สำรวจความเสี่ยงภัย และเฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่ หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม ให้เตรียมพร้อมรับมือ โดยติดตามข้อมูลพยากรณ์อากาศ ประกาศแจ้งเตือน ตรวจวัดปริมาณน้ำฝน รวมถึงสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติ และความเปลี่ยนแปลงของสิ่งก่อสร้างบนพื้นดิน จะได้แจ้งเตือนคนในชุมชนให้อพยพหนีอย่างทันท่วงที

การปฏิบัติตนเมื่อเกิดดินถล่ม ให้ปฏิบัติ ดังนี้

  • อพยพไปตามเส้นทางที่ปลอดภัย พ้นแนวการไหลของดินหรือขึ้นที่สูงไปยังสถานที่ปลอดภัย ซึ่งห่างจากพื้นที่ประสบภัยดินถล่ม อย่างน้อย 2 – 5 กิโลเมตร และอยู่ห่างลำน้ำให้มากที่สุด เนื่องจากน้ำจะพัดหิน ดิน ต้นไม้มาตามลำน้ำ ก่อให้เกิดอันตราย หลีกเลี่ยงเส้นทางที่เป็นแนวการไหลของดินหรือมีกระแสน้ำไหลเชี่ยว หากจำเป็นให้ใช้เชือกผูกลำตัว พร้อมยึดเชือกไว้กับต้นไม้หรือสิ่งปลูกสร้างที่แข็งแรง เพื่อป้องกันกระแสน้ำพัดจมน้ำ

กรณีตกน้ำ ให้หาต้นไม้ใหญ่ยึดและปีนให้พ้นน้ำ ห้ามว่ายน้ำหนีเด็ดขาด เพราะอาจกระแทกกับซากต้นไม้หรือหินที่ไหลลงมาตามน้ำ ทำให้จมน้ำเสียชีวิต ทั้งนี้ ก่อนที่จะเกิดภัยพิบัติดินถล่ม จะมีสัญญาณเตือนให้สังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติ มีฝนตกหนักต่อเนื่องมากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อวัน หรือนานกว่า 6 ชั่วโมง ระดับน้ำในแม่น้ำลำห้วยเพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว น้ำมีสีขุ่น มีกิ่งไม้ ท่อนไม้ มีเสียงดังผิดปกติจากภูเขา ลำห้วย สัตว์ป่าแตกตื่น ให้แจ้งเตือนและอพยพหนีอย่างทันท่วงที การเตรียมความพร้อม และการปฏิบัติตนเมื่อเกิดดินถล่ม เป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้การดำเนินชีวิตได้อย่างปลอด ภัยจากดินถล่มในช่วงฤดูฝน

ร่วมแสดงความคิดเห็น