ค้นพบ “ตำหยาวสี่ขีด” พืชชนิดใหม่ของโลก บริเวณอุทยานแห่งชาติน้ำตกสี่ขีด จ.นครศรีธรรมราช

ผู้ช่วยศาตราจารย์ ดร.จรัล ลีรติวงศ์ ร่วมกับ ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และ Prof. Dr. David Johnson จากมหาวิทยาลัย Ohio Wesleyan ประเทศสหรัฐอเมริกา ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก “ตำหยาวสี่ขีด” (Alphonsea annulata Leerat. & Chalermglin) สกุลตำหยาว (Alphonsea) วงศ์กระดังงา (Annonaceae) จากการศึกษาทบทวนอนุกรมวิธานพืชสกุลตำหยาว (Alphonsea) ในประเทศไทย ภายใต้โครงการพรรณพฤกษชาติแห่งประเทศไทยของพืชวงศ์กระดังงา โดยได้ตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการระดับนานาชาติสาขาพฤกษศาสตร์ Kew Bulletin

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จรัล ลีรติวงศ์ กล่าวว่า ตำหยาวสี่ขีด มีลักษณะเป็นไม้ต้น ใบเดี่ยว เรียงตัวแบบสลับ มีลักษณะรูปรีจนถึงรูปขอบขนานจนถึงรูปใบหอก ปลายใบเรียวแหลม มีขนปกคลุมบริเวณแผ่นใบด้านล่าง ช่อดอกมี 1-3 ดอกย่อย ออกตรงตำแหน่งเลยซอกใบขึ้นมา มีกลีบเลี้ยง 3 กลีบ แยกจากกัน สีเขียวแกมน้ำตาล มีกลีบดอก จำนวน 6 กลีบ เรียงเป็น 2 ชั้นๆ ละ 3 กลีบ สีเหลืองแกมน้ำตาล แต่ละกลีบมีโคนกลีบโค้งเข้าด้านในเป็นรูปคล้ายถุง ปลายโค้งออกด้านนอก ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของพืชสกุลตำหยาว ผลเป็นกลุ่ม มีผลย่อยจำนวนมาก ผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด เวลาผลย่อยแห้งจะมีส่วนผิวนูนรูปวงแหวน เรียงตามแนวขวาง จำนวน 2-7 วง ซึ่งเป็นลักษณะที่บอกความแตกต่างจากพืชชนิดอื่นๆ ในสกุลเดียวกัน

โดยพืชชนิดใหม่ของโลกนี้ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2562 จากบริเวณน้ำตกสี่ขีด อุทยานแห่งชาติน้ำตกสี่ขีด อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช และตัวอย่างพรรณไม้นี้ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์พืชแห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (PSU Herbarium) โดยยังไม่มีการระบุชื่อพรรณไม้ระดับชนิดมาก่อน เมื่อมีการตรวจสอบลักษณะสัณฐานวิทยาอย่างละเอียด พร้อมกับตรวจสอบเอกสารงานวิจัยทางอนุกรมวิธานที่เกี่ยวข้องสามารถยืนยันได้ว่า ตำหยาว เป็นพืชชนิดใหม่ของโลก โดยได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Alphonsea annulata” ตามลักษณะของผลย่อยเวลาแห้งผิวจะมีลักษณะคล้ายรูปวงแหวน

ร่วมแสดงความคิดเห็น