กปภ.ช. หารือนโยบายหลัก – แผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 – 2570 ขับเคลื่อนการจัดการสาธารณภัย

วันที่ 24 มิ.ย. 64 เวลา 10.00 น. ที่กรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 ผ่านระบบการประชุม ด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุมฯ เพื่อพิจารณานโยบายการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 – 2570 ก่อนเสนอ
คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้เป็นแนวทาง หลักในการจัดการสาธารณภัยของประเทศต่อไป

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ครั้งที่ 1 /2564 เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าหลายพื้นที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติ ทั้งอุทกภัย ภัยแล้ง วาตภัยไฟป่า และหมอกควันที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับพระราชบัญญัติป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 กำหนดให้จัดทำ ปรับปรุง หรือทบทวนแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน กรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะเลขานุการ กปภ.ช.
และหน่วยงานรับผิดชอบด้านการจัดทำแผนการจัดการสาธารณภัย จึงได้จัดทำนโยบายการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และแผนการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2564 – 2570

เพื่อเสนอคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติพิจารณาเห็นชอบ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้เป็นแนวทางหลักของการจัดการสาธารณภัยของประเทศต่อไป ซึ่งในวันนี้ที่ประชุม กปภ.ช.ได้พิจารณาในสาระสำคัญของนโยบายการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ 5 ประการ
ประกอบด้วย

  1. มุ่งลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย
    โดยเฉพาะการความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงจากสาธารณภัยอย่างรอบด้าน
  2. บูรณาการทุกภาคส่วนยกระดับมาตรฐานระบบการจัดการสาธารณภัย
    ในภาวะฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
  3. การพัฒนาระบบการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน
  4. เสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยกับหน่วยงานภายในประเทศและต่างประเทศ และ
  5. ส่งเสริมการวิจัย ประยุกต์ใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และภูมิปัญญา เพื่อเพิ่มศักยภาพการจัดการสาธารณภัยของประเทศ

รวมถึงพิจารณาแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2564 – 2570 ซึ่งเป็นแผนฉบับใหม่ที่ปรับปรุงจากแผนฉบับเดิมที่ใช้มาครบ 5 ปี และมีลักษณะกรอบแนวคิด ในการปฏิบัติ (Concept of Operations : CONOPs) โดยได้กำหนด 5 ยุทธศาสตร์ อันได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การมุ่งเน้นการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย ด้วยการลดความล่อแหลมความเปราะบาง และสร้างศักยภาพให้แก่ชุมชนเพื่อให้เข้าใจความเสี่ยงและการลงทุนด้านการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยให้มีภูมิคุ้มกัน และฟื้นกลับได้อย่างรวดเร็ว และฟื้นฟู ให้ดีกว่าเดิม

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การจัดการในภาวะฉุกเฉินแบบบูรณาการ ด้วยการยกระดับมาตรฐานการบูรณาการวางแผนเผชิญเหตุจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน การช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัย และเร่งดูแลประชาชนให้กลับมามีชีวิตตามปกติโดยเร็ว

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพ การฟื้นฟูอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาให้ปลอดภัยและดีกว่าเดิม (Build Back Better: BBB) และการปรับวิถีชีวิตใหม่ (New Normal)

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศในการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง
และยั่งยืน

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการ และประยุกต์ใช้นวัตกรรมด้านสาธารณภัย ด้านการวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยี และภูมิปัญญา ทั้งนี้ ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มาเป็นกรอบแนวทางการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย เพื่อนำไปสู่
การสร้างประเทศไทยปลอดภัยอย่างยั่งยืน

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า จะได้นำแผนการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2564 – 2570 เสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ เพื่อให้ทุกหน่วยงานใช้เป็นกรอบแนวทางหลัก ในการจัดการสาธารณภัยของประเทศ
ต่อไป นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติในคณะต่าง ๆ ทั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแผนฯ คณะอนุกรรมการป้องกัน และแก้ไขปัญหาอัคคีภัย และคณะอนุกรรมการป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง รวมถึงรับทราบมติคณะรัฐมนตรี เรื่องการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ จำนวน 5 คน ดังนี้ รองศาสตราจารย์ เสรี ศุภราทิตย์ นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ ร้อยโท วโรดม สุจริตกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทวิดา กมลเวชช และศาสตราจารย์ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดการสาธารณภัยของประเทศให้มีประสิทธิภาพและพร้อมรองรับทุกความเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ

ร่วมแสดงความคิดเห็น