โรงพยาบาลลานนารับ “วัคซีนซิโนฟาร์ม” ล็อตแรกแล้ว พร้อมฉีด 28 มิถุนายนนี้

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เริ่มกระจายวัคซีนให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ที่รับฉีดวัคซีนให้กับองค์กร และหน่วยงาน ที่ได้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ขอรับการจัดสรรวัคซีนตัวเลือก “ซิโนฟาร์ม” ผ่านระบบออนไลน์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน ที่ผ่านมาแล้ว จากการจัดสรรวัคซีนตัวเลือก ซิโนฟาร์ม ระยะที่ 1 ครั้งที่ 1 ให้กับองค์กร และบริษัทที่ยื่นความประสงค์เข้ามา ระหว่างวันที่ 14-15 มิถุนายน 2564 ตามประเภทธุรกิจ ความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจที่มีผลต่อการขับเคลื่อนประเทศ และพื้นที่ความเสี่ยง
สำหรับ หน่วยงาน องค์กร และบริษัท ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่เลือกโรงพยาบาลลานนาเป็นหน่วยฉีดวัคซีน ซิโนฟาร์ม ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ วัคซีนซิโนฟาร์ม ล็อตแรกได้ส่งมาถึงโรงพยาบาลลานนา และเจ้าหน้าที่ เภสัชกร ได้รับเข้าจัดเก็บในคลังยาเรียบร้อยแล้ว จำนวน 216 โดส โดยโรงพยาบาลลานนา จะเปิดให้บริการ ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด “ซิโนฟาร์ม” วันละ 200 คน ที่ แผนกผู้ป่วยนอก อาคาร B ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00น. -16.00 น. เริ่มฉีดวันแรก ในวันที่ 28 มิถุนายน นี้
วัคซีนตัวเลือก จากบริษัท ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ผลิตโดยสถาบันชีววัตถุแห่งกรุงปักกิ่ง (BIBP) และเป็นวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO เป็นวัคซีนชนิดเนื้อตาย มีวิธีการผลิตแบบ Inactived vaccine มีความปลอดภัยสูง ใช้กับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องได้ โดยมีรายการประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีอาการโดยรวมถึง 79.4% และไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กำหนดอัตราวัคซีนตัวเลือก “ซิโนฟาร์ม” ในราคาเข็มละ 888 บาท *อัตราดังกล่าวรวมค่าวัคซีน ค่าขนส่ง ค่าเก็บรักษาพร้อมประกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากวัคซีนแล้ว แต่ไม่รวมค่าบริการการฉีด ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลสามารถกำหนดได้เองตามสมควร โดยโรงพยาบาลลานนา เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลเอกชน ของจังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นสถานพยาบาลขึ้นทะเบียน รับฉีดวัคซีน“ซิโนฟาร์ม” กับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคระบุว่า วัคซีนซิโนฟาร์ม ให้ฉีดจำนวน 2 ครั้ง โดยทิ้งช่วงระยะห่างหลังฉีดเข็มที่ 1 ไปแล้ว 3 สัปดาห์ หรือประมาณ 28 วัน (เกือบ 1 เดือน) จึงจะสามารถฉีดเข็มที่ 2 ได้ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่จะสามารถฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ให้มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป โดยข้อมูลตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีรายงานการใช้ในต่างประเทศแล้วมากกว่า 15 ล้านโดส และพบว่ามีความปลอดภัย
ความคุ้มครองกรณีได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีน การเจ็บป่วยด้วยภาวะโคม่า (รวมเสียชีวิต) จำนวนเงินเอาประกันภัย 1,000,000 บาท และค่ารักษาพยาบาล (IPD&OPD) จำนวนเงินเอาประกันภัย 30,000 บาท

ร่วมแสดงความคิดเห็น