ส่องมาตรการประเทศเพื่อนบ้าน หลังเจอโควิดเล่นงานอ่วมหนัก งัดล็อกดาวน์เข้าควบคุมการแพร่ระบาด

หลายประเทศในอาเซียนกำลังเผชิญอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ ที่กลับมาระบาดรุนแรงอีกครั้ง หลายประเทศเริ่มคุมไม่อยู่ วัคซีนต้านไม่ไหว เนื่องจากไวรัสโควิดกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ที่พบว่าสามารถแพร่กระจายติดเชื้อได้ง่ายขึ้นกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้าทำให้ต้องออกมาตรการควบคุมผู้คนในประเทศด้วยการล็อกดาวน์ เพื่อสกัดการระบาดของโควิด-19

มาเลเซีย ล็อกดาวน์ครั้งที่ 5 อย่างไม่มีกำหนด นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของไวรัส มาเลเซียมีการประกาศล็อกดาวน์ มาแล้วถึง 5 ครั้ง แต่ละครั้งค่อนข้างยาวนานและมีมาตรการเข้มงวด ซึ่งครั้งล่าสุดที่มาตรการล็อกดาวน์ต้องสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา กลายเป็นว่ารัฐบาลมาเลเซียกลับต้องขยายเวลาการล็อกดาวน์ทั้งประเทศออกไปอย่างไม่มีกำหนด หลังไม่สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อเฉลี่ยที่ 7,000 คน เสียชีวิต 70 คน ต่อวัน

ส่วนการฉีดวัคซีนก็ยังเป็นไปอย่างเชื่องช้า เนื่องจากการจัดส่งวัคซีนจากประเทศผู้ผลิตยังไม่สามารถจัดส่งได้อย่างเต็มที่ โดเฉพาะไฟเซอร์ รวมทั้งการเข้าร่วมโครงการ COVAX ก็ไม่สามารถจัดส่งวัคซีนได้เต็มที่เนื่องจากวัคซีนขาดแคลน ทำให้มาเลเซียที่มีประชากรรวมทั้งสิ้นราว 32 ล้านคน ปัจจุบันมีผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้วเพียง 8% จากจำนวนประชากรทั้งหมด และมีผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วหนึ่งโดสคิดเป็น 19% ซึ่งน้อยกว่าประเทศไทย
ขณะที่มาตรการเยียวยารัฐบาลแจกเงินสด จำนวน 1 หมื่นล้านริงกิต แก่ประชาชนที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำภายในสิ้นปีนี้
นอกจากนี้ ยังมีประกาศมาตรการพักหนี้เป็นเวลา 6 เดือน ให้แก่ประชาชนทุกคนโดยไม่มีการกำหนดเกณฑ์รายได้
ขณะเดียวกัน รัฐบาลประกาศตั้งกองทุนหลายแห่ง เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจ และให้มีการลดหย่อนภาษีสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รวมทั้งอุตสาหกรรมโรงแรม
ส่วนการควบคุมการเดินทางของประชาชน จำกัดให้ประชาชนสามารถเดินทางออกนอกบ้านได้ครอบครัวละ 2 คนเท่านั้น และห้ามการเดินทางระหว่างรัฐและเมืองต่างๆ ในประเทศ
 เวียดนามล็อกดาวน์ คนแห่ตุนสินค้า วัคซีนขาด ฉีดได้เกือบต่ำสุดในอาเซียน ก่อนหน้านี้เวียดนามเคยได้รับคำชื่นชมจากนานาชาติว่าสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี มีอัตราผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตค่อนข้างต่ำ แต่การระบาดรอบนี้เวียดนามกำลังประสบปัญหาอย่างหนักจากสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งล่าสุดอัตราการติดเชื้อพุ่งสูงอย่างน่ากังวล เพราะระบบสาธารณสุขของเวียดนามก็กำลังประสบปัญหา แม้จะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นราว 1,000 คนต่อวัน แต่เป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ล่าสุดยอดสะสมผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 23,385 ราย เสียชีวิต 102 ศพ
รัฐบาลเวียดนามได้ออกคำสั่งใช้มาตรการล็อกดาวน์นครโฮจิมินห์ ห้ามประชาชนในเมืองกว่า 9 ล้านคน ออกจากบ้านเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม ออกมาได้ในกรณีซื้ออาหารหรือยาเท่านั้น ขณะที่มีอย่างน้อย 10 เมืองทั่วประเทศ ที่ตัดการเดินทางทางอากาศกับโฮจิมินห์ และมีรายงานด้วยว่า ประชาชนแตกตื่นคำสั่งล็อกดาวน์ และแห่ไปซื้อเสบียงกักตุน และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีมาตการเยียวยาอะไรจากรัฐบาล
ส่วนการฉีดวัคซีนในเวียดนาม มีอัตราที่ต่ำอย่างน่าตกใจอยู่ใน 3 อันดับสุดท้ายของอาเซียน ซึ่งมีการฉีดไปแล้วเพียงแค่ 3.9 ล้านโดสเท่านั้น จากประชากรทั้งประเทศที่ 96 ล้านคน
อินโดนีเซียติดเชื้อพุ่งวันละ 50,000 คนไข้ล้นมือจนระบบสาธารณสุขแทบล่มสลาย ที่เห็นว่าน่าจะหนักที่สุดในภูมิภาคนี้ก็คงเป็นอินโดนีเซีย เพราะล่าสุดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงสุดทะยานขึ้นไปสู่วันละ 50,000 แล้ว ส่วนผู้เสียชีวิตก็อยู่ที่ 1,000 รายต่อวัน
ขณะที่รัฐบาลอินโดนีเซียสั่งขยายมาตรการล็อกดาวน์ ให้มีผลบังคับใช้ทั่วประเทศไปจนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม ครอบคลุมตั้งแต่เกาะสุมาตราถึงปาปัวที่อยู่ทางตะวันออกสุดของประเทศ จากเดิมที่ครอบคลุมพื้นที่เกาะชวากับเกาะบาหลีเท่านั้น
ขณะนี้โรงพยาบาลในอินโดนีเซียกำลังประสบปัญหาคนไข้ล้นมือ จนระบบสาธารณสุขแทบล่มสลาย และออกซิเจนขาดแคลนจนต้องนำเข้าจากสิงคโปร์ แค่เฉพาะจำนวนเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลทั่วกรุงจาการ์ตา เต็มถึง 95% ต้องหันมาปรับปรุงพื้นที่ลานจอดรถเป็นวอร์ดฉุกเฉิน เพื่อเปิดพื้นที่ห้องของโรงพยาบาลให้เป็นห้องแยกรักษาผู้ป่วยโควิด
ขณะที่มาตรการเยียวผลกระทบของอินโดนีเซียยังไร้ซึ่งความชัดเจน มีเพียงการให้เงินช่วยเหลือมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีโครงการช่วยเหลือทางสังคม และให้วัคซีนฟรีแก่ประชาชนนับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโควิดในปีที่แล้ว ส่วนในปีนี้ยังไม่มีวี่แววใดๆ
ขณะที่องค์กรต่างๆ ในภาคธุรกิจของอินโดนีเซีย รวมถึงสภาหอการค้าอินโดนีเซีย (KADIN) เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการต่างๆ เพื่อรับประกันว่า รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอที่จะสนับสนุนภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ มิเช่นนั้น ผู้ประกอบการอาจถูกบีบให้ต้องเลิกจ้างพนักงานหรือประกาศล้มละลาย
ส่วนอัตราการฉีดวัคซีนของอินโดนีเซีย แม้จะมาที่สุดเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนที่ราว 50 ล้านโดส แต่ด้วยจำนวนประชากรที่มาถึง 240 ล้านคน ยังถือว่ามีการฉีดวัคซีนที่ไม่สูง ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น