โครงการนำร่องคัดแยกขยะอินทรีย์ในหน่วยทหาร ด้วยถังหมักรักษ์โลก (Green Cone)

 

วันที่ 22 กรกฎาคม 2564 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 142 ณ ศูนย์เสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พันโท หญิง บุณฑริกา ฑีฆวาณิช ผู้ช่วยโฆษกกองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 เป็นผู้แถลงข่าวฯ มีสาระสำคัญดังนี้.-
ถังหมักรักษ์โลก (Green Cone) ถูกคิดค้นขึ้นครั้งแรกในประเทศแคนาดา โดยมีวัตถุประสงค์ในการออกแบบและสร้างขึ้นเพื่อจัดการกับขยะอินทรีย์ที่เหลือจากครัวเรือน เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเชื้อโรคหรือ ไปปนเปื้อนกับขยะอื่นๆ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ อีกทั้งยังได้ประโยชน์ในเรื่องของธาตุอาหารที่เป็นผลพลอยได้ใช้ในการปรับปรุงดิน ทำให้ดินมีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช

หลักการทำงาน ถังหมักรักษ์โลกเป็นการใช้ประโยชน์จากกลุ่มจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ภายในดินที่มีอยู่เดิมมาทำหน้าที่ย่อยสลายสารอินทรีย์ แต่หากบริเวณใดเป็นดินเสื่อมโทรมมีจุลินทรีย์ตามธรรมชาติอยู่น้อย ก็อาจจะเพิ่มจุลินทรีย์ได้โดยการเติมขี้วัว หรือเติมน้ำหมักชีวภาพเข้าไปรองพื้นตระกร้าก่อนเทเศษอาหารได้
หลักการหมัก จะเป็นการหมักโดยกระบวนการของจุลินทรีย์แบบใช้ก๊าซออกซิเจน ซึ่งจะทำให้เกิดกลิ่นเหม็นน้อยมากเมื่อเทียบกับการหมักแบบอื่นๆ ดังนั้นก๊าซออกซิเจนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับถังหมักรักษ์โลก โดยการออกแบบถังจะมุ่งเน้นให้เกิดการหมุนเวียนถ่ายเทของอากาศ เพื่อให้ก๊าซออกซิเจนเดินทางเข้าสู่วัสดุหมักได้อย่างทั่วถึง โดยก๊าซออกซิเจนจะเข้าสู่ถังหมักได้ 2 ช่องทาง คือ ผ่านช่องว่างของเม็ดดินที่กลบลงไปอย่างหลวมๆ รอบถังและรอดรูของตระกร้าเข้าสู่วัสดุหมักด้านล่าง และทางฝาปิดด้านบนผ่านเข้าไปในช่องว่างระหว่างถังเล็กและถังใหญ่ เมื่อแสงแดดส่องลงมาจะทำให้อุณหภูมิของอากาศภายในถังสูงขึ้น อากาศที่ถังด้านล่างจะยกตัวลอยสูงขึ้นด้านบน เกิดการดูดหมุนเวียนอากาศใหม่จากภายนอกเข้ามาแทนที่ ตัวถังจึงมีออกซิเจนหมุนเวียนตลอดเวลา อีกทั้งช่องว่างระหว่างถังทั้ง 2 ใบ เป็นฉนวนอากาศป้องกันความร้อนได้ดีช่วยให้อุณหภูมิภายในถังหมักไม่สูงจนเกินไป ทำให้จุลินทรีย์ที่ทำหน้าที่ในกระบวนการหมักยังคงมีชีวิตอยู่ได้ นอกจากนี้สัตว์ที่เป็นผู้ย่อยสลายขนาดเล็ก เช่น กิ้งกือ และไส้เดือนดิน ยังสามารถเคลื่อนที่ผ่าน รูตะแกรงของตระกร้า เพื่อเข้าไปย่อยสลายเศษอาหารได้อีกทางหนึ่งด้วย
ผลผลิตที่ได้จากถังหมักรักษ์โลก คือ ธาตุอาหารต่างๆ ที่เกิดจากกระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์และสัตว์ในชั้นดินชนิดต่างๆ จะกระจายแพร่ลงสู่ดินบริเวณรอบๆ ถังหมัก ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช ดังนั้นการปลูกผักบริเวณรอบๆ ถังหมักรักษ์โลก จึงเป็นการปลูกต้นไม้โดยที่ไม่ต้องใส่ปุ๋ยอีก เพียงแค่เรานำเศษอาหารเทเข้าไปในถังหมัก อาหารเหล่านั้นก็จะเกิดกระบวนการหมัก และเติมธาตุอาหารเข้าไปในดินโดยอัตโนมัติ

 


ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 มีนโยบายจัดทำโครงการนำร่องคัดแยกขยะอินทรีย์ภายในค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มในการลดปริมาณขยะจากครัวเรือนและชุมชน ช่วยลดภาระในการจัดเก็บและคัดแยกขยะ โดยเฉพาะการจัดการกับขยะอินทรีย์จากบ้านเรือน และโรงเลี้ยงภายในค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยให้ทำการคัดแยกขยะตามจุดที่เตรียมไว้ สำหรับขยะอินทรีย์ เศษอาหารที่สามารถย่อยสลายได้ง่าย ให้นำมาทิ้งที่กรีนโคน (ถังหมักรักษ์โลก) เพื่อจะได้เป็นกระบวนการย่อยสลายตามธรรมชาติ จึงได้มอบหมายให้ พลตรี วีรวัฒน์ วิวัฒน์วานิช เลขาธิการ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ดำเนินการประสานความร่วมมือกับเทศบาลบ้านคลอง ในการดำเนินโครงการให้เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง
จึงขอเชิญชวนข้าราชการและครอบครัว ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 และพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ติดตั้งถังหมักรักษ์โลก (Green Cone) ซึ่งสามารถดำเนินการประดิษฐ์ขึ้นได้เอง อย่างเรียบง่าย และประหยัด ตามข้อมูลขั้นต้น รวมทั้งร่วมมือร่วมใจกันคัดแยกขยะอินทรีย์ ในแต่ละครัวเรือนและในแต่ละชุมชน เพื่อเป็นการกำจัดขยะอินทรีย์ตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 54 ของขยะจากครัวเรือน เป็นการช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่สังคมในอนาคตต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น