แพทย์ทหารเตือน กลุ่มโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ ในห้วงฤดูฝน จนถึงฤดูหนาว

 

วันที่ กรกฎาคม 2564 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 142 ณ ศูนย์เสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พันเอก นายแพทย์ วิโรจน์ ชนม์สูงเนิน รองโฆษกกองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 เป็นผู้แถลงข่าวฯ มีสาระสำคัญดังนี้.-
เมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยในห้วงฤดูฝน จนถึงฤดูหนาว นอกจากการดูแลตนเองโดยการสวมใส่เสื้อผ้าให้อบอุ่น รวมทั้งไม่เปียกชื้นแล้ว สิ่งที่ต้องพึ่งระวังคือ กลุ่มโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ เพราะในช่วงที่อากาศเย็น เป็นเวลาที่เอื้อต่อการอยู่รอดและแพร่กระจายของไวรัส มีรายละเอียดของโรคต่างๆ ที่พึงระวัง ดังนี้


1. ไข้หวัดใหญ่
ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม ของทุกปี มักเป็นช่วงที่มี่การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ แต่จะพบผู้ป่วยมากในช่วงฤดูฝน (กรกฎาคม – กันยายน) และจะพบผู้ป่วยมากอีกช่วงในฤดูหนาว (ธันวาคม – มกราคม) แต่ไม่ระบาดมากเท่าในฤดูฝน
อาการของโรคและการดูแลรักษา โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส
• อาการ ไข้สูง ปวดศีรษะมาก ปวดเมื่อยตามตัวมาก อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน พบมากที่สุดในฤดูฝน และพบได้บ่อยในฤดูหนาวเช่นกัน กลุ่มอายุที่พบ มักเป็นกลุ่มผู้ใหญ่วัยทำงาน และเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ
• การดูแลรักษา ควรพบแพทย์แต่เนิ่นๆ
• การป้องกัน ควรทำร่างกายให้แข็งแรง และอบอุ่นอยู่เสมอ


2. ปอดอักเสบ
ลักษณะการระบาดตามฤดูกาลคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ พบผู้ป่วยมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม – กันยายน ซึ่งเป็นฤดูฝน และจะสูงขึ้นอีกครั้งในฤดูหนาว คือ เดือนธันวาคม – มกราคม
อาการของโรค และการดูแลรักษา เกิดได้ทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย แต่ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส
• อาการ ไข้ ไอ เสมหะมาก แน่นหน้าอกเหมือนหายใจไม่ออก หอบ หายใจเร็ว มักพบตามหลังไข้หวัดเรื้อรังหรือรุนแรง หรือโรคหลอดลมอักเสบ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นโรคหอบหืด
• พบมากที่สุดในฤดูฝน และพบได้บ่อยในฤดูหนาว เช่นกัน กลุ่มอายุที่พบมากคือ อายุต่ำกว่า 10 ขวบ โดยเฉพาะเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 5 ขวบ และผู้สูงอายุ
• การดูแลรักษา ลูกหลานและญาติที่ป่วยเป็นไข้หวัดหรือหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โดยไปพบแพทย์ ในเบื้องต้น และถ้าอาการยังไม่ทุเลา ก็ควรไปพบแพทย์ซ้ำ เพื่อติดตามการรักษาต่อไป การดูแลอื่นๆ ได้แก่ การทำร่างกายให้อบอุ่น การดื่มน้ำอุ่น การอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่แออัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการหายใจรับเชื้อเข้าไป สำหรับบุคคลทั่วไป เวลาไอ จาม ควรมีผ้าเช็ดหน้า ปิดปาก จมูก ด้วยทุกครั้ง และหมั่นล้างมือ


3. โรคหัดเยอรมัน
พบผู้ป่วยมากในเดือนมิถุนายน (ฤดูฝน) และมกราคม –กุมภาพันธ์ คือ เมื่อเข้าฤดูหนาวมาระยะหนึ่งจนถึงปลายหนาว เนื่องจากระยะฟักตัวของโรคนานมากคือ เฉลี่ย 18 วัน และมักพบการระบาดในกลุ่มผู้ใหญ่ ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนในวัยเด็กที่มารวมกันอยู่เป็นจำนวนมาก
อาการของโรคและการดูแลรักษา โรคหัดเยอรมัน เป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง ซึ่งมีอาการไข้และผื่นทั่วตัว ในเด็กส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง แต่เป็นโรคที่มีความสำคัญเพราะถ้าสตรีมีครรภ์เป็นโรคหัดเยอรมันในระยะ 3-4 เดือนแรก เชื้อไวรัสจะผ่านไปยังทารกในครรภ์ ทำให้เกิดความพิการทางหู ตา หัวใจ และสมอง โรคหัดเยอรมันสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน


• อาการและอาการแสดง
ในเด็กโต จะเริ่มด้วยต่อมน้ำเหลืองที่หลังหู ท้ายทอย และด้านหลังของลำคอโต และเจ็บเล็กน้อย เด็กโตจะรู้สึกไม่สบาย ปวดหัว ไข้ต่ำๆ มีอาการคล้ายเป็นหวัด มีเจ็บคอร่วมด้วย 1-5 วัน ประมาณวันที่ 3 ผื่นจะขึ้นเป็นสีชมพูจางๆ กระจายอยู่ห่างๆ เป็นแบบ Macular Rash เริ่มขึ้นที่หน้าแล้วลามไปทั่วตัวอย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง ผื่นเห็นชัดเจนบริเวณแขนขา และจะหายไปในเวลา 1-2 วัน และสีผิวหนังจะกลับเป็นปกติ ถ้าเป็นในผู้ใหญ่จะมีไข้สูงกว่าในเด็ก บางรายอาจมีอาการปวดข้อหรือข้ออักเสบร่วมด้วย โดยเฉพาะในผู้หญิง
ทารกที่ติดเชื้อตั้งแต่ในครรภ์ และคลอดออกมามีความพิการ จะมีอาการแตกต่างกันแล้วแต่ระยะ ที่แม่ติดเชื้อ ถ้าแม่เป็นในระยะตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 1-4 จะพบทารกมีความพิการได้ถึงร้อยละ 30-50 สัปดาห์ที่ 5-8 พบได้ร้อยละ 25 และสัปดาห์ที่ 9-12 พบพิการได้ร้อยละ 8 ความพิการที่พบได้บ่อยคือ ความพิการทางตา (พบเป็นตาเล็ก ต้อกระจก ต้อหิน) ความพิการที่หัวใจ หูหนวก ความผิดปกติทางสมอง ศีรษะและสมองเล็ก แรกเกิดจะพบมีตับ ม้ามโต มีอาการตัวเหลือง มีจ้ำเลือดตามตัว และเกล็ดเลือดต่ำ อาการผิดปกติเหล่านี้ พบได้ในความรุนแรงแตกต่างกัน และอาจพบได้หลายอย่างร่วมกันได้
• การรักษา
ในหญิงตั้งครรภ์ที่สัมผัสโรคหัดเยอรมัน ควรได้รับการตรวจเลือดทันที เพื่อดูว่าเคยเป็นและมีภูมิคุ้มกันต่อหัดเยอรมันหรือไม่ ถ้าตรวจพบภูมิคุ้มกันที่จำเพาะสำหรับเชื้อหัดเยอรมัน แสดงว่าน่าจะมีภูมิคุ้มกันแล้ว แต่กรณีตรวจไม่พบแนะนำให้ตรวจเลือดซ้ำอีกครั้ง 2-3 สัปดาห์ต่อมา ถ้าผลตรวจเป็นลบควรตรวจซ้ำอีกครั้ง 6 สัปดาห์หลังสัมผัสโรค กรณีที่การตรวจเลือดทั้งสองครั้งให้ผลลบ แสดงว่าผู้ป่วยไม่ติดโรค แต่ถ้าเคยตรวจครั้งแรกให้ผลลบและครั้งต่อไปให้ผลบวกแสดงว่าผู้ป่วยติดโรค แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาทำแท้งในกรณีที่เด็กอาจมีความพิการแต่กำเนิด
• การป้องกัน
การฉีดวัคซีน วัคซีนที่ใช้เป็นชนิดไวรัสเชื้อเป็น ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป และฉีดเข็มที่สองเมื่ออายุ 4-6 ปี โดยนิยมให้ในรูปของวัคซีนรวมหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR) นอกจากการให้วัคซีนป้องกันในเด็กแล้ว สามารถให้วัคซีนในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสหัดเยอรมันทั้งหญิงและชาย ไม่ควรฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ กรณีให้วัคซีนในหญิงวัยเจริญพันธุ์ ต้องป้องกันการตั้งครรภ์ในช่วงเวลา 1 เดือนหลังฉีด
ป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย ถ้ามีอาการไอให้ใช้หน้ากากอนามัย หรือใช้มือปิดปากและจมูกพร้อมกับล้างมือบ่อยๆ
ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 มีความห่วงใยข้าราชการทหาร ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 และพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ต่อกลุ่มโรคต่างๆ ดังกล่าว ซึ่งหากพบว่าตนเองหรือ คนรอบข้างมีอาการบ่งชี้ หรือสงสัยว่ามีอาการป่วย ขอให้ได้ไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ หรือโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อคัดกรอง วินิจฉัย และรักษาต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น